การยกขบวนไปพบปะประชาชนตามจังหวัดต่างๆเป็นวัตรปฏิบัติที่ถือเป็นเรื่องปกติของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แต่คราวนี้ยกขบวนใหญ่ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีผู้บัญชาการทหารบกติดตามไปด้วย คล้ายกับว่าจะประกาศนโยบายพัฒนา คู่สันติสุข
หลังจากเข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งการเรียนรู้ยะลา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับฟังเวที “My dream ฉันฝัน ฉันเห็น ฉันอยากเป็น” กลุ่มนักเรียนเล่าความฝันให้นายกฯฟัง และถามว่า “พวกเราที่อยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ จะได้รับโอกาสทางการศึกษาเหมือนกับที่อื่นหรือไม่” ได้รับคำตอบว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว
ฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นคำตอบ ที่ไม่จริงจังมั่นคงนัก จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำคณะเข้านมัสการเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ปัตตานี และกราบเรียนว่ามาดูเรื่องโอกาส เรื่องวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่าสามจังหวัดภาคใต้ มีแหล่งท่องเที่ยวพร้อม ทั้งทะเลและป่าเขา แต่อยากให้ฟื้นฟูความสงบ
แต่ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีเชื่อว่าขณะนี้สามจังหวัดภาคใต้มีทั้งสันติภาพ สันติสุข และความสุข ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากนักวิชาการ ในภาคใต้ที่ยังไม่มีความสงบแท้ มีกลุ่มเยาวชนจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ถูกเพ่งเล็งเมื่อมีการชุมนุมและแต่งตัวแบบมลายู และพูดถึงคำว่า “ชาติปาตานี”
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านาน จากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างคนสองชาติพันธุ์ คือคนไทยกับมลายูปาตานี ที่มีภาษา อัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ไฟใต้ลุกลามขึ้นใหญ่โตตั้งแต่ต้นปี 2547 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ที่มองว่าการก่อความไม่สงบ เป็นฝีมือ “โจรกระจอก”
อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สิงคโปร์เมื่อปี 2554 ยอมรับว่าผิดพลาดเรื่องปัญหาภาคใต้ เนื่องจากตนเคยเป็นตำรวจ ถูกสอนว่าการปราบปรามต้องใช้ “กำปั้นเหล็กและถุงมือกำมะหยี่” แต่ใช้ถุงมือเหล็กมากไป จึงขอโทษชาวมุสลิมภาคใต้ และรัฐบาลนั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน
...
มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาไฟใต้ ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี การดับไฟใต้มักจะอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคง ทั้งๆที่ประกาศนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” แต่ดูเหมือนจะนิยมใช้ “กำปั้นเหล็ก” คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือแม้แต่กฎอัยการศึก.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม