รองประธานสภา คนที่ 1 แจงยิบ สาเหตุร่างกฎหมายของสส. บรรจุในสภาล่าช้า เหตุส่วนใหญ่รอความเห็นของหน่วยงาน แนะรัฐบาลต้องจริงใจ อัด “ยุครัฐบาลเศรษฐา” รมต.มาตอบกระทู้น้อยกว่า “ยุคประยุทธ์” จ่อบุกทำเนียบพรุ่งนี้ คุยปัญหานี้โดยตรงกับสำนักเลขาธิการนายกฯ
วันที่ 29 ก.พ. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง แถลงถึงความคืบหน้า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ที่เสนอโดย สส. เหตุใดจึงยังไม่บรรจุในการพิจารณาของสภาฯ ว่า สำหรับสถานะของพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่อยู่ระหว่างรอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาให้คำรับรองนั้นมีทั้งหมด 31 ฉบับ
โดยฉบับที่นานที่สุดเมื่อส่งไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้วนายกฯ ไม่สามารถรับรองได้ภายใน 30 วัน ด้วยเหตุที่ต้องรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ร่างที่รอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนานที่สุดคือ 6 เดือน 11 วัน คือร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. .... ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกับคณะ ร่างถัดมารอ 6 เดือน 4 วันยังไม่มีความเห็น เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้ความเห็น ทำให้นายกฯ ไม่ลงนามรับรองที่จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ คือร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพุทธศักราช 2551 ของนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ไม่ใช่มีเพียงแค่ร่างของพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นที่ยังไม่มีการรับรองจากนายกฯ ให้บรรจุ แต่ร่างของรัฐบาล คือร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน ของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ส่งไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 รอมาแล้ว 5 เดือน 25 วัน ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส่งไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 รอมาแล้ว 4 เดือน 17 วัน
...
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนทำได้เพียงนำข้อเท็จจริงมาแถลงต่อสาธารณะ เพื่อเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ากฎหมายที่เสนอโดยสส. ตอนนี้ทำได้เพียงแค่เสนอกฎหมาย กฎหมายที่เป็นร่างการเงินซึ่งต้องใช้การตีความครอบคลุมหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกองทุน การเพิ่มภาระงานบางอย่าง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องจริงใจต้องส่งร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงินเข้ามาถกเถียงที่สภาฯ ร่างกฎหมายเหล่านี้กระทบฝ่ายบริหาร แต่ถ้าหน่วยงานไม่รับรองเรื่องก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ตนได้ส่งเรื่องไปทวงถามสำนักเลขาธิการนายกฯ หลายครั้งแล้วว่าติดขัดตรงขั้นตอนใด แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจากหน่วยงาน หากหน่วยงานไม่ส่งคำตอบแม้เพียง 1 หน่วยงาน จะทำให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะไม่มีวันได้บรรจุเข้าในสภาฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่บอกชัดเจนว่าสภานิติบัญญัติจะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายรัฐบาลการพิจารณากฎหมายซึ่งเป็นงานที่พวกเราทำได้กลับถูกเทคนิคโดยการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ส่งความเห็นให้นายกฯ หรือทำเป็นไม่ส่งความเห็นเพื่อทำให้ร่างที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหน่วยงานของตัวเองเป็นหมันไป
ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค. 67) ตนจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อพูดคุยปัญหาเรื่องนี้โดยตรงกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และตนมีความพยายามที่จะเข้าพบตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2567 แล้วแต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ พรุ่งนี้จะไปดูด้วยตาตัวเองว่าไม่มีใครอยู่แปลว่าอะไร การไปครั้งนี้ต้องการพบผู้ที่รับผิดชอบทางด้านกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ไปพบเพื่อกระทบกระทั่ง แต่ไปพบเพื่อประสานความร่วมมือ ไม่อย่างนั้นถ้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังทำงานแบบนี้จะเห็นว่ากฎหมายจำนวนมากที่ สส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเสนอนั้นไม่สามารถเข้าสู่สภาฯ ได้ และนี่เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญในอนาคต
ส่วนการไม่มาตอบกระทู้ของรัฐมนตรี หรือการผลัดกฎหมาย ส่งสัญญาณชัดเจนว่าฝ่ายนิติบัญญัติถูกเล่นงานโดยอำนาจที่ไม่สมดุล การตอบกระทู้ในวันนี้น่าจะเป็นสถิติที่น้อยที่สุดตั้งแต่มีการเปิดสภาฯ มาและน้อยกว่ายุคที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ วันนี้กระทู้สด 3 กระทู้มาตอบเพียงแค่ 1 กระทู้ กระทู้ทั่วไป 4 กระทู้เลื่อนตอบทั้งหมด มีรัฐมนตรีบางท่านแจ้งในเอกสารไม่ชัดเจนว่าติดภารกิจอะไร อยากให้ผู้สื่อข่าวติดตามดูว่าภารกิจที่ติดนั้นสำคัญมากหรือน้อยกว่าการมาตอบกระทู้ในสภาฯ วันนี้ประธานวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านได้ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐมนตรีทุกคนโดยเฉพาะท่านที่ยังเป็น สส. อยู่ มีหน้าที่ในสภาฯ วันพฤหัสบดีหน้าจะเป็นวันที่พิสูจน์ว่ารัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อสภาฯ หรือไม่ และถ้าไม่มีพี่น้องประชาชนจะมีความคิดเห็นอย่างไร นี้เป็นสองเรื่องใหญ่ที่เราจำเป็นต้องยืนยันอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และอำนาจในทางกฎหมาย