เมื่อวานนี้ผมหยิบยกข้อเขียนในเฟซบุ๊กของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ว่า นโยบายการเงินนั้นเปรียบเสมือนการให้น้ำเกลือแก่ประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสดชื่นขึ้นได้บ้าง แข็งแรงขึ้นได้บ้าง แต่มิใช่ยารักษาโรคโดยตรง

พร้อมกับแนะว่า ต้องไปดูว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเศรษฐกิจคือ จีดีพีต่ำของประเทศไทยของเราครั้งนี้เพราะอะไร เมื่อหาสาเหตุเจอแล้วก็จัดการรักษาด้วยยาเฉพาะทาง หรือเฉพาะโรคให้ถูกต้อง

ผมจึงชื่นชมท่านและฝากแนวคิดและวิธีทำงานในแบบท่านให้นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่ยังอยู่ในแวดวงราชการทั้งหลาย ยึดแนววิเคราะห์หรือการรักษาโรคของประเทศอย่างรอบคอบเช่นนี้ไว้เสมอๆ

เช่นเดียวกับคุณหมอ หรือแพทย์ทั้งหลายที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตลอดว่า ชีวิตมนุษย์เป็นของมีค่าที่สุด จะต้องรักษาอย่างเอาใจใส่อย่างรอบคอบ วิเคราะห์รายละเอียดทุกแง่มุมให้มั่นใจก่อนที่จะจ่ายยาหรือลงมือรักษาด้วยการผ่าตัด หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจสุ่มเสี่ยง

ตรงข้ามกับนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะมีความรู้ ความสามารถสูงผ่านงานบริหารต่างๆมามาก แต่มักลืมหลักการและแนวคิด ทางเศรษฐศาสตร์ที่สอนว่า จะต้องดูให้ “รอบคอบ รอบด้าน” และเลือกวิธีการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดในการรักษาโรคเศรษฐกิจของประเทศไทย

นักการเมืองหลายท่านจึงมีลักษณะคล้ายๆ “หมอตี๋” ที่ครั้งหนึ่งมีมากมายเหลือเกินในประเทศเรา

คงจำได้เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ในยุคต้นๆของการพัฒนาประเทศตามแผนเศรษฐกิจฉบับแรกๆนั้น เราขาดแคลนทั้งหมอและเภสัชกร...การรักษาโรคในชนบทจึงตกอยู่ที่ร้านขายยาต่างๆ ซึ่งควรจะเป็นประเภทที่ขายยาทั่วๆไป เช่น ยาประจำบ้าน หรือยาที่ไม่อันตรายเท่านั้น

...

แต่ปรากฏว่า ร้านขายยาเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านของคนจีน และมีลูกชาย หรือ “อาตี๋” ที่เรียนจบ ม.3 บ้าง ม.6 บ้าง มาเป็นผู้ขายยาประจำร้าน และแอบขายยาอันตรายที่ควรสั่งโดยแพทย์เท่านั้นหลายๆชนิด

อาตี๋เหล่านี้อ่านออกเขียนได้ดี รู้ภาษาอังกฤษในระดับหนึ่ง เพราะ ม.6 สมัยก่อน ก็ถือว่าเป็นคนมีความรู้พอสมควร...ดังนั้น เมื่อมาขายยาก็จะหมั่นอ่านฉลากยา อ่านคู่มือการแพทย์จนรู้ว่ายาอะไรรักษาโรคอะไรได้บ้าง และสามารถจัดยาให้คนไข้ราวกับเป็นแพทย์คนหนึ่ง

แต่สิ่งที่หมอตี๋ขาดไปก็คือ เพราะความรู้ในเรื่องผลข้างเคียง หรือรู้แต่ไม่ให้ความสำคัญ เพราะในฉลากยาก็อาจบอกไว้แล้ว แต่หมอตี๋ทั้งหลายก็มักจะจัดยาแบบเต็มโดส เต็มอัตราศึก โดยเฉพาะยาอันตรายต่างๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมมิได้ดูถูกดูหมิ่นหมอตี๋แต่อย่างใด...กลับรู้สึกขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำที่เข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ด้านขาดแพทย์ในชนบท เพียงแต่รู้สึกไม่สบายใจกับการรักษาโรคในแบบวิธีของหมอตี๋เท่านั้นเอง

กลับมาที่เรื่องของนักเศรษฐศาสตร์กันอีกครั้ง...ปรากฏว่าตรงข้ามกับกรณีเรื่องหมอตี๋เลยครับ เพราะในยุคแรกๆของการพัฒนาประเทศชาติเรากลับได้หมอเศรษฐศาสตร์ที่เก่งๆมาวางรากฐานเอาไว้อย่างแข็งแกร่ง

ท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ท่าน ม.ล.เดช สนิทวงศ์, ท่าน บุญมา วงศ์สวรรค์, ท่าน ฉลอง ปึงตระกูล, ท่าน สุนทร หงส์ลดารมภ์, ท่าน บุญชนะ อัตถากร ฯลฯ ล้วนเป็นนายแพทย์ทางเศรษฐศาสตร์ขนานแท้

ต่อมาเมื่อเราเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าถูกต้องแล้ว แต่ประเทศของเรากลับโชคร้ายอยู่บ้างที่เราได้นักการเมืองที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ “หมอตี๋” เข้ามารักษาโรคเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ขาดความรอบคอบรอบด้านที่เป็นคุณสมบัติของหมอเศรษฐศาสตร์เสียเป็นส่วนมาก

ก็ไม่ว่ากัน เพราะในระบอบประชาธิปไตยผู้ใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา เราก็ต้องยอมรับบุคคลนั้นๆ

แต่ข้าราชการประจำทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นหมอเศรษฐกิจตัวจริงอยู่ในขณะนี้ จะต้องไม่ลืมหน้าที่ของท่านจะต้องชี้แจง จะต้องทัดทานจะต้องบอกให้รู้ว่า การรักษาโรคอย่างที่นักการเมืองต้องการจะเป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง? อะไรควรทำ! อะไรไม่ควรทำ!

เหมือนอย่างที่ ดร.วิรไท ซึ่งทุกวันนี้ท่านออกจากระบบราชการหรือระบบกึ่งราชการที่เรียกว่า “ทางการ” ของแบงก์ชาติไปแล้ว ออกมา เขียนบทความอันทรงคุณค่าชิ้นนี้

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ “คุณหมอวิรไท”!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม