รัฐบาล เตือนประชาชน ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาฯ คาดอุณภูมิสูงกว่าปีที่ผ่านมา ระวัง เป็น "Heat stroke" อันตรายจากพายุ ขอให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด หากพบเห็นผู้ป่วย โทร. 1669
วันที่ 23 ก.พ. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาว และเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 ก.พ. 67 โดยในตอนกลางวัน บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30
นายคารม กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีมักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้น ประชาชนควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว
"รัฐบาลห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้ป่วยมีโรคประจำตัว จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด หากพบเห็นผู้ป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ โทรขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669" นายคารม ย้ำ
...