"ดร.เอ้" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้า ปชป. ชี้ "กทม." ต้องการผู้นำดุดัน แก้ปัญหาจริงจัง ไม่ทำงานลอยตัว หลังแก้วิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 ล้มเหลว ชี้ สิ่งที่ต้องทำ 3 ข้อ เร่งด่วน
วันที่ 22 ก.พ. 2567 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ "ดร.เอ้" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. กล่าวว่า ตามที่สถานการณ์ฝุ่นพิษในพื้นที่ กทม. ปัจจุบันถึงขั้นวิกฤติแล้ว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้องประชาชนอย่างมาก ถือเป็นภัยต่อรุ่นลูกหลาน เพราะอัตราการเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 จะมีอัตราการตายก้าวกระโดด ซึ่ง กทม.ควรต้องแก้ปัญหามาตั้งนานแล้ว แต่กลับปล่อยให้มาถึงขั้นวิกฤติแบบทุกวันนี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า กทม.มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหา โดยใช้ข้อบัญญัติ กทม.ทางด้านความสะอาด ความปลอดภัยและความเรียบร้อย ทุกเขตมีหน้าที่และเจ้าหน้าที่พร้อม สามารถตรวจจับควันดำ ตรวจสอบไซต์งานก่อสร้างได้ทั้งจับ ปรับ ไปจนถึงระงับการก่อสร้างได้ แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่บังคับใช้หรือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
โดยภารกิจ กทม.ถือเป็นภารกิจที่หนักหน่วง ผู้บริหารจึงต้องมีภาวะผู้นำ ในเรื่องของการติดตามงาน อย่างมีประสิทธิภาพ
"ปัญหา กทม.จะแก้ไขสั่งการแบบลอยตัวไม่ได้ กทม.ต้องการผู้นำที่ดุดัน และเอาจริงมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาฝุ่นพิษ หรือทุกปัญหาจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ส่วน 11 มาตรการ ลดฝุ่นที่ กทม.ประกาศออกมาประกอบไปด้วย เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ประสานตำรวจเข้มงวดกวดขัน ขอความร่วมมือ Work From Home รณรงค์บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ควบคุมสถานประกอบการไม่ปล่อยมลพิษ งดกิจกรรมเกิดฝุ่น เข้มงวดห้ามเผาทุกชนิด เพิ่มความถี่ล้างถนน ฉีดล้างต้นไม้ ให้ความรู้สุขภาพอนามัย ออกหน่วยบริการสาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นในโรงเรียน นั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำทุกวันอยู่แล้ว และต้องทำมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่มาประกาศ มาทำกันตอนนี้ ทุกวันนี้เรายังเห็นรถขนส่งควันดำวิ่งกันอยู่เลย เรายังเห็นไซต์งานก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ ไม่มีอะไรปกปิดหรือป้องกันอยู่เลย
...
ดังนั้นสิ่งที่ กทม.ควรต้องแก้ปัญหาในเรื่องฝุ่นพิษและทำเร่งด่วน คือ 1. ป้าย กทม.ต้องขึ้นแสดงสภาพอากาศ รัฐรู้แค่ไหน ประชาชนต้องรู้เท่านั้น 2. อำนาจ กทม. มีอยู่แล้วในการจัดการเรื่องของฝุ่น โดยคุมเรื่องรถขนส่งและไซต์งานก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ 3. กำหนดเขตมลพิษต่ำ "Bangkok Low Emission Zone" หรือ "B-LEZ" (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน มีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก