พรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับการพักโทษ ชี้ สังคมหยุดตั้งคำถามไม่ได้ถึงความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลต้องอำนวยความยุติธรรมให้ทุกคนอย่างทัดเทียม 

เมื่อเวลา 09.56 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ถึงจุดยืนต่อกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการพักโทษในวันนี้ และเดินทางกลับไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า แม้รัฐบาลและ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มักย้ำในหลายเวทีถึงความสำคัญของการสร้างหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์และกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ นายทักษิณ ตลอด 180 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะการได้รับสิทธิรักษาตัวนอกโรงพยาบาลที่เรือนจำเป็นกรณีพิเศษโดยขาดความโปร่งใสเรื่องอาการป่วยของ นายทักษิณ ต่อเนื่องมาจนได้รับสิทธิพักโทษเพื่อปล่อยตัวกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านนั้น กลับเพิ่มคำถามที่มีในใจของประชาชนจำนวนมาก ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน สอดคล้องกับหลักการบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่

แน่นอนว่าหากมองไปที่อดีต ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทักษิณ เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางวิถีประชาธิปไตย จนทำให้ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมของคดีความ กระบวนการทางกฎหมาย และบทลงโทษที่มีต่อ นายทักษิณ

แต่หากมองมาที่ปัจจุบัน เมื่อนายทักษิณ ตัดสินใจนำตนเองกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศ ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า คำชี้แจงของรัฐบาลต่อคำถามสำคัญ ทั้งเรื่องสุขภาพของนายทักษิณ ที่ผ่านมา หรือเกณฑ์ที่ใช้ในการอนุมัติให้ นายทักษิณ ได้รับการพักโทษ ไม่สามารถทำให้สังคมหยุดตั้งคำถามได้ถึงความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียบกับนักโทษและผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองคนอื่นๆ 

...

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่า สังคมไทยต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมเพื่อทุกคน ปราศจากระบบสองมาตรฐาน หรือนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คุณทักษิณ ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งหรือการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง แนวทางในการดำเนินการต้องไม่ใช่การตอกย้ำระบบสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมในประเทศ หรือส่งเสริมให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นในทางกฎหมาย แต่รัฐบาลต้องยึดแนวทางที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกคนอย่างทัดเทียมกัน”