"ทักษิณ" ได้พักโทษ สวมเสื้อสีเขียว ใส่แมสก์ ใส่เฝือกอ่อนที่คอ ขึ้นรถกับ "อิ๊งค์" แพทองธาร  ถึง "บ้านจันทร์ส่องหล้า" แล้ว ครอบครัวชินวัตร ยินดี จบ 17 ปี ที่รอคอย 

วันที่ 18 ก.พ. 2567 เมื่อเวลา 06.06 น. ที่ รพ.ตำรวจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นรถ เดินทางกลับ"บ้านบ้านจันทร์ส่องหล้า" ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ที่ครอบครัวชินวัตร ได้มีการเตรียมการเอาไว้เป็นเวลาหลายวันก่อน หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ น.ส.พิณทองทา ในฐานะบุตรสาวนายทักษิณ ได้เดินทางมารับตัว ออกจาก รพ.ตำรวจ ทั้งนี้ ขบวนรถนำนายทักษิณ ได้เลี้ยวเข้าสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อเวลา 06.33 น. เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ถ่ายภาพ นายทักษิณ ชินวัตร สวมเสื้อสีเขียว สวมหน้ากากอนามัย สวมเฝือกอ่อนที่บริเวณคอ นั่งรถยนต์ยี่ห้อ เบนซ์สีดำ ทะเบียน 1414 กทม. มากับ น.ส.แพทองธาร และน.ส.พิณทองทา  ออกจาก รพ.ตำรวจได้ ออกไปยังประตู สถาบันนิติเวช ด้านถนนอังรีดูนังต์

...

โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า รถนำส่งผู้ป่วยของ รพ.ตำรวจ ที่มารอรับบริเวณช่องทางชั้นใต้ดินของ รพ.ตำรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยตัวต่อสื่อมวลชน ครอบครัวชินวัตรจะมารอต้อนรับ

ขณะบรรยากาศหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ยังคงเป็นปกติ มีกลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมากต่างรอทำข่าวอยู่เท่านั้น 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายทักษิณ จะเก็บตัวเงียบอยู่กับครอบครัวในสัปดาห์แรก ไม่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้าพบ ยกเว้นคนใกล้ชิดระดับวีไอพี แต่เมื่อผ่านไปสักระยะคาดว่า นายทักษิณจะเข้ารับตำแหน่งประธานมูลนิธิไทยคม เพื่อใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างเหมาะสม แต่ไม่ข้องแวะกับประเด็นการเมือง เพราะจะกระทบกับการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งภาวะผู้นำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง

ส่วนขั้นตอนการปล่อยตัว นายทักษิณ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจเป็น ผบ.เรือนจำฯ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้เดินทางไปพบผู้ได้รับการพักโทษ พร้อมกับนำเอาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษให้เจ้าตัวเซ็นลายมือชื่อด้วย นายทักษิณ ถือว่าครบวันบริหารโทษและได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษแล้ว อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็อนุมัติรับทราบให้ปล่อยตัวพักโทษ เมื่อถึงวันพักโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ เช่น ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่างๆ หลังจากนี้ก็ค่อยดำเนินการในภายหลังได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีเวลา 3 วัน ในการเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษ นับแต่วันที่ได้พักโทษ

เงื่อนไขคุมประพฤติของกรมราชทัณฑ์ ห้ามทำอะไรระหว่างพักโทษ ระบุไว้ 8 ข้อ ได้แก่

1. ผู้ได้รับการพักโทษ จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ

2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต

3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก

4. ต้องประกอบอาชีพโดยสุจริต

5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา

6. ห้ามพกพาอาวุธ

7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ

8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

ทั้งนี้ ถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัว ประพฤติตนตามเงื่อนไขด้วยดีตลอด ก็จะได้รับใบบริสุทธิ์ และพ้นโทษไปตามคำพิพากษา เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติสืบต่อไป