กรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมจัดงานใหญ่ "108 ปีสหกรณ์ไทย" 26 ก.พ.นี้ เดินหน้าพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศด้วยนโยบาย "ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้"

วันที่ 15 ก.พ. 67 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยว่า สหกรณ์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะการขยายตัวและเติบโตในด้านทุนดำเนินงาน สามารถช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสมาชิก ปัจจุบันรัฐบาลเองมีหลายนโยบายที่ดำเนินการผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปสู่สหกรณ์ต่างๆ ไม่ว่านโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำมาขับเคลื่อนในโอกาสครบรอบ 108 ปีสหกรณ์ไทยด้วย

“พลังของภาคประชาชนภายใต้สหกรณ์จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเขาเอง เพราะสหกรณ์มีลักษณะการดำเนินงานโดยสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและเป็นผู้ใช้บริการจากสหกรณ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น สหกรณ์จะต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น และตั้งเป้าหมายว่านับจากนี้ไป สมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จะเข้ามาใช้บริการจากสหกรณ์ ทั้งการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตร ธุรกิจสินเชื่อและออมทรัพย์ สมาชิกทุกคนถือหุ้นในสหกรณ์ เมื่อกำไรเกิดขึ้นก็จะแบ่งปันกลับคืนสู่สมาชิกและมุ่งเน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในโอกาสครบรอบ 108 ปีสหกรณ์ไทยเราก็จะขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

...

สำหรับกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 108 ปีสหกรณ์ไทย ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ขบวนการสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศจะร่วมกันทำบุญ จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จำหน่ายสินค้าสหกรณ์และแข่งกีฬาสร้างความสัมพันธ์กันในชาวสหกรณ์ สำหรับในส่วนกลางนั้น ช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์ทำบุญตักบาตร และวางพานพุ่มสักการะพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย บริเวณหน้ากรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ จากนั้นจะมีเวทีเสวนาทางวิชาการขบวนการสหกรณ์ไทยและการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์ต่างๆ ณ สำนักสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถ.พิชัย กรุงเทพฯ โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 9 ต ค. 2527 ที่กำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ" หลังประเทศไทยโดยนโยบายแห่งรัฐ เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร

สืบเนื่องมาจากพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ที่ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จมาแล้วใน อินเดีย และพม่า หลังทั้งสองประเทศนี้ได้ส่งคนไปศึกษาวิชาสหกรณ์จากประเทศเยอรมนี

ทว่าการดำเนินงานสหกรณ์ในระยะแรกเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าสหกรณ์เป็นแนวทางที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพและจัดทำได้สำเร็จ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ.2471 แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กิจการสหกรณ์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมในกิจการสหกรณ์ ทำให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทต่างๆ ขึ้นมา อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ เป็นต้น

ต่อมารัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง แต่หลังจากปี 2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลง ผลจากการมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในที่สุดกระทรวงสหกรณ์ก็ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ เพราะขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์ หลังมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2515 มีผลทำให้กรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียวในปัจจุบัน ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิม เพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงานอิสระ

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ปี 2566) มีสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรที่ยังดำเนินงานอยู่ 6,225 แห่ง สมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศ จำนวน 11,447,405 คน อยู่ในสหกรณ์ภาคการเกษตรมากที่สุด ร้อยละ 55 รองลงมาคือสหกรณ์ออมทรัพย์ร้อยละ 25.6% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.4 ล้านล้านบาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเร่งยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ในแต่ละชั้นให้เพิ่มมากขึ้น และจะเดินหน้าพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศ ให้เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ สามารถดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสมาชิกอย่างแท้จริง.