ที่ประชุมสภา มีมติ 269 ต่อ 147 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 เสียง เห็นชอบ รายงานผลการพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ของกมธ.ก่อนส่งไปครม.พิจารณาต่อ หลัง สส.รุมตั้งกระทู้ถาม โครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน
วันที่ 15 ก.พ. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายรายงานดังกล่าวโดยตั้ง 3 คำถามจากระดับมหภาคสู่จุลภาค ดังนี้
1.ลงทุนโครงการแลนบริดจ์ โครงการเดียว วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะสามารถกระจายโอกาสให้กับผู้คนในภาคใต้ได้อย่างไร ให้ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท อาจใช้การลงทุนจากทั้งใน และนอกประเทศได้ แต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าการเวนคืนที่ดิน คือ มอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-โคราช ที่รัฐบาลจะต้องจัดเงินอุดหนุน
นายพิธา ได้เปรียบเทียบการใช้งบประมาณในการลงทุนต่อโครงการแลนบริดจ์ 1 ล้านล้านบาท เทียบกับการลงทุนการผลิตที่จำเป็นให้กับพี่น้องภาคใต้ในราคาไม่ถึงครึ่ง คือ 4.8 แสนล้านบาท ที่สามารถนำไปสร้างสร้างระบบพลังงานสะอาด แหล่งน้ำ การศึกษา สุขภาพ การแก้ปัญหาเรื่องยางพารา ปาล์ม และผลไม้
...
2.จัดการความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างไร? เนื่องจากโครงการแลนบริดจ์เป็นโครงการที่จะต้องเวนคืนพื้นที่ทั้งสวนทุเรียน สวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เรื่องการสูญเสียพื้นที่ประมง และปัญหาน้ำมันรั่วอุบัติภัยทางทะเล
3.วางภาคใต้ และประเทศไทยอย่างไร ระหว่างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และเส้นทางเสริมเรือฟีดเดอร์? โดยสิ่งที่ต้องแลกระหว่างโครงการแลนบริดจ์ มรดกโลก สิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่วางยุทธศาสตร์ขณะนี้ไปจนถึงอนาคตอาจหายไป โดยมูลค่าการท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้ขณะนี้คิดเป็น 30% ของประเทศที่ 7 แสนล้านบาท ต่อปีหากกระทบการท่องเที่ยวที่ 10% และ 50 ปี อาจสูญเสียรายได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท
ท้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลเลือกโครงการแลนบริดจ์ และหวังจะแชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือภูมิภาค ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างเป็นอย่างน้อยคือ เร็วกว่า สะดวกกว่า ถูกกว่า และหากรัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบทั้ง 3 คำถามสำคัญดังกล่าวได้ตนไม่สามารถเห็นชอบต่อรายงานฉบับนี้ได้
ขณะที่ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เอกสารรายงานย้อนแย้งกับสิ่งที่เสนอต่อสภา เพราะคำพูดที่บอกว่า ลดเวลาทางการขนส่งได้ แต่ในเอกสารเขียนว่า อาจจะสามารถลดได้แปลว่ากรรมาธิการพยายามผลักดันว่า รายงานฉบับนี้มีผลดีแต่ไม่มีผลเสียเลย หมายความว่ากำลังพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รายงานฉบับนี้เขียนบอกเหลือเกินว่า ประเทศไทยอยากเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ประตูขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ตนคิดว่าอยากเป็นศูนย์กลางปฏิวัติมากกว่า
ผลงานท่านดีมาก ถนนพระรามสอง สร้างมา 7 ชั่วโคตร ก.คมนาคม รับผิดชอบยังไม่เสร็จสักที วันนี้จะทำโครงการใหญ่ๆ โครงการอะไรต่อที่บ้านผม Southern Seaboard เวนคืนที่ดิน 300 กม. บริเวณ 2 ข้างทาง จาก จ.นครศรีธรรมราช ถึง จ.สุราษฎร์ธานี มาถึง จ.กระบี่ บ้านผม เริ่มตั้งแต่รัฐบาลสมัยก่อนโน้น แล้วโฆษณาชวนเชื่อ นักลงทุนจะมา สุดท้ายเป็นอย่างไร ร้างครับ ที่ผ่านมาเห็นหรือไม่ว่าจะใช้โครงการให้เป็นประโยชน์ เสียหายนะครับ สวนปาล์มเป็นหมื่นไร่ แล้วรอบนี้จะเวนคืนที่ดินอีก
นายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ตอบไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความกังวลของคนภาคใต้ไม่ใช่ว่าไม่อยากพัฒนาบ้าน แต่แนวทางการพัฒนาภาคใต้มีเยอะแยะ เคยถามคนภาคใต้โดยตรงหรือไม่ว่าอยากได้อะไร
เรายังเคยพูดถึงระบบขนส่งราง รถไฟ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ทำไมไม่ทำแบบนี้ โอ้ จะเอาแต่โครงการแบบนี้ แล้วท่านบอกว่า ขอบเขตการศึกษามิติทางกฎหมายไม่ติดขัด ไม่ติดขัดอย่างไร หน่วยงานราชการที่มาตอบการประชุมชี้แจง ซึ่งรายงานฉบับนี้ทำภายใต้การประชุมไม่ถึง 10 ครั้ง ไม่มีทางรอบคอบ รัดกุม ละเอียด รวมถึงเป็นฐานให้หน่วยงานเอาไปเป็นข้อมูล
นายประเสริฐพงษ์ กล่าวอีกว่า การรับฟังความเห็นก็มีทหาร ตำรวจ ไปตรึงกำลังประชาชน แล้วบอกว่าพูดได้ 5 คน นี่หรือเป็นการรับฟังความเห็น
นายประเสริฐพงษ์ ยังขอให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกมาพูดความจริง ว่าคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทที่ปรึกษาของ สนข. แล้วรายงานบอกว่าจะให้ความสุขกับชุมชน จะให้ได้อย่างไร คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปประชุมที่ระนองยังแก้ปัญหาไม่ได้
ขณะที่ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ตั้งคำถามว่า การลงทุนโครงการนี้เป็นของเอกชน 100% หรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่ หากเอกชนไม่ให้ความสนใจ และใช้หลักอะไรกับการให้สัมปทานโครงการ 50 ปี แม้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อภาคใต้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักมี 4 ข้อ คือ 1.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.ค่าตอบแทนเวนคืนต้องเป็นธรรม 3.การจัดการไฟฟ้า แหล่งน้ำในพื้นที่พาดผ่าน จะจัดการอย่างไรไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 4.การอ้างข้อมูลการจ้างงานในพื้นที่จะหลอกชาวบ้านหรือไม่ สิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นโครงการคือ ข้อมูลหน่วยงานรัฐมีความสมบูรณ์แบบ 100% หรือไม่ ขอให้ กมธ.ทบทวน ฟังความเห็นต่างของ ส.ส.ด้วย.
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเป็นอดีต กมธ.ฯ เหตุผลที่ลาออกเป็นเพราะไม่สามารถให้ความเห็น กับตัวรายงานฉบับนี้ได้ ซึ่งแทนจะไม่มีการแก้ไขอะไรเลย จากวันที่ตนได้ลาออกมา ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดที่ กมธ.ฯส่วนใหญ่ที่มาจากฝั่งรัฐบาลมีธงมาจากบ้านแล้วว่าเราควรจะทำโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นมติครม.หรือนโยบายที่กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลไปแล้ว แม้จะไม่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็ตาม แต่สิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องกังวลใจต้องดูว่าสิ่งที่เราศึกษามานั้นรอบคอบ ถูกต้องหรือไม่ และที่ผ่านมาตนถามในห้องกมธ.ฯหลายรอบก็ไม่ได้รับคำตอบจาก สนข.ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือ การคำนวณการเติบโตของท่าเรือ ซึ่งตนยังไม่รู้ว่าจะเชื่อรายงานของสนข.ได้หรือไม่ และรายงานฉบับนี้ที่อ้างอิงรายงน สนข.ไปเต็มๆแบบนี้ เราจะยังเชื่ออะไรอยู่หรือไม่ รวมทั้งการประเมิณความคุ้มค่า ที่บอกว่าความคุ้มค่าทางการเงินสามารถคุ้มทุนได้ภายใน 24 ปี โดยที่มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 8.62 % จริงหรือไม่
“รายงานฉบับนี้กำลังรับรองความผิดพลาดอะไรอยู่ ดิฉันกังวลมากจริงๆ ท่านอาจจะไม่อายแต่ดิฉันอายเวลาที่นายกฯ ต้องออกไปพูดกับต่างชาติเรื่องโครงการนี้ โดยที่เนื้อในเป็นแบบนี้ จริงๆ แล้วดิฉันไม่ได้ทำเพราะเป็นฝ่ายค้านแล้วต้องค้านทุกเรื่อง แต่เรายังต้องรักษาภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายกฯไว้บ้าง และดิฉันไม่ได้มีปัญหาต่อการพัฒนาภาคใต้ และยินดีพร้อมใจถ้าจะมีการรื้อรายงานของ สนข.และรื้อรายงานของ กมธ.ฯใหม่อีกครั้ง และสามารถศึกษาใหม่มีแนวทางใหม่ขึ้นมาและคุ้มค่าดิฉันก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการใหม่นั้น”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เวลา 17.00น. หลังสมาชิกใช้เวลาอภิปรายแสดงความคิดเห็นนานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง 15 นาที ที่ประชุมมีมติ 269 ต่อ 147 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 เสียง เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของคณะกมธ. และจะได้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป