ไม่มีเหา อย่าหาเหาใส่หัว ไม่มีหนี้ อย่าหาหนี้ใส่ตัว

แต่คนไทยยุคนี้ต้องแบกหนี้ติดตัวตั้งแต่เกิดจนตาย

การแก้ไขวิกฤติหนี้นอกระบบจึงเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ล่าสุดมีลูกหนี้นอกระบบไปลงทะเบียนขอให้รัฐบาลช่วยไกล่เกลี่ยหนี้กว่า 1.4 แสนราย

เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 2.1 หมื่นราย

ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 1.2 หมื่นราย

หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของลูกหนี้นอกระบบที่ไปลงทะเบียน

ยังเหลือลูกหนี้นอกระบบที่รอไกล่เกลี่ยอีก 1.2 แสนราย

กว่าจะไกล่เกลี่ยครบ 1.4 แสนราย คงต้องรอกันหนวดหงอกละพระเดชพระคุณ

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าวงเงิน “หนี้นอกระบบ” ยังจิ๊บๆเมื่อเทียบกับยอด “หนี้ในระบบ” ของประชาชน

ที่กำลังส่งสัญญาณอันตราย!!

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ (เครดิตบูโร) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2566

ยอดหนี้เสียทั้งระบบบานอะหลึ่งฉึ่งไปถึง 1 ล้านล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นอีก 7 เปอร์เซ็นต์

แต่ข้อมูลเครดิตบูโรที่ต้องสยองขวัญคือ...หนี้เสียจากสินเชื่อผ่อนซื้อรถยนต์พุ่งพรวดไปถึง 28 เปอร์เซ็นต์!!

หนี้เสียบัตรเครดิตก็กระเด้งขึ้นอีก 12 เปอร์เซ็นต์

หนี้สินเชื่อซื้อบ้านซึ่งเป็นหนี้สำคัญที่สุดของชีวิตคนไทยกลายเป็นหนี้เสียไปแล้วถึง 1.8 แสนล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นอีก 7 เปอร์เซ็นต์

ยังไม่รวมหนี้สินเชื่อบ้านค้างชำระ (ซึ่งใกล้จะกลายเป็นหนี้เน่า) อีกประมาณ 1.78 แสนล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นกว่า 31 เปอร์เซ็นต์!!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เฉพาะหนี้สินเชื่อบ้านอย่างเดียวกลายเป็น “หนี้เสีย” และ “หนี้กำลังจะเสีย” ไปถึง 3.5 แสนล้านบาท

...

“แม่ลูกจันทร์” มองว่าสาเหตุหนี้เน่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเพราะ...

1, ความสามารถใช้หนี้ของคนไทยลดลงอย่างชัดเจน

2, รายได้ประชาชนไม่สมดุลกับรายจ่ายที่จำเป็น

สรุปว่าข้อมูลจากเครดิตบูโรเป็นใบเสร็จยืนยันว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้วเป็น “ภาพลวงตา”

แต่ที่จริงแล้ว...เศรษฐกิจไทยยังสะลึมสะลือ

ผลที่จะตามมาจากปริมาณหนี้เสียสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างโครมคราม

แสดงว่าจะมีลูกหนี้ถูกยึดบ้านยึดรถกันอีกบานตะไท!!

ล่าสุด มีหนี้เสียที่รอบังคับคดีอีก 6.9 แสนราย

ปริมาณหนี้ใกล้เน่าอีกราว 3.67 แสนล้านบาท

นี่แหละคือสภาพเศรษฐกิจของจริง!!

“แม่ลูกจันทร์” สรุปตามความจริง ปัญหาหนี้สินประชาชนกับปัญหาหนี้รัฐบาลก็ริดสีดวงบานเป็นกลีบมะไฟพอกัน

แต่หนี้รัฐบาลไม่เสียไม่เน่า

เพราะฉีดยากันบูดไว้อย่างดี

แต่จะใช้หนี้หมดเมื่อไหร่?? อย่าถามให้ปวดใจเลยโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม