“พิชัย” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เร่ง นโยบายเชิงรุก ประสานภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ ประเทศไทย เป็นสวรรค์ของบุคลากรดิจิทัลของโลก แนะ คิดนอกกรอบ แก้ทุกอุปสรรค ทำให้เกิดขึ้นให้ได้จริง
วันที่ 14 ก.พ. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัล มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก และ ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งสามารถที่จะขยายตัวได้อีกมาก และเป็นพื้นที่ของการเจริญเติบโตในอนาคต และเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยและจุดประสงค์ของท่านนายกฯ ที่เร่งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดย ภาครัฐประกอบด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคณะ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดีอีเอส และคณะ นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธาน กสทช. และ คณะ ภาคเอกชนประกอบด้วย นายศักดา ใช่วิวัฒน์ เลขาสมาคม ACTA ส่งเสริมการท่องเที่ยว นายรัฐกันต์ สุวรรณภักดี ผู้ก่อตั้งเครือข่ายดิจิทัลนอแมดไทยแลนด์ นายพงษ์ศิริ พิสุทธิ์อัครธาดา นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ นายนิธิวิทย์ นิธิทักษ์นาคิน อุปนายก สมาคม ACTA
...
โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้มีแนวทางสอดคล้องกันเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการดึงดูดบุคลากรทางดิจิทัลของโลกเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ โดยอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้และของโลกด้วย และเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบัน ประเทศเอสโตเนีย ที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมากได้พัฒนาเป็นเมืองหลวง (Capital) ของ บุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเหมือนสวรรค์ (Heaven) ของ บุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) เพราะมี โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่พร้อม มีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งภูเขา และทะเล รวมถึงวัฒนธรรม สถานที่ช้อปปิ้ง อาหารอร่อย และมีหลากหลาย รวมทั้งมีที่พักอาศัยที่สะดวกสบาย มีค่าครองชีพที่เหมาะสม และที่สำคัญคือคนไทยมีอัธยาศัยดี จึงทำให้มีบุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) เข้ามาในประเทศไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ระบบราชการยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกคล่องตัวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
โดยเมื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยว ที่คนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ มากิน มาใช้ มาท่องเที่ยว และใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพราะส่วนใหญ่มีรายได้สูง ฐานะดี แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทยได้ และประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องดึงดูดคนเก่งๆ มีความรู้ ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยกันคิดเรื่องใหม่ๆเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้พัฒนาเก่งตามไปด้วย
โดยเริ่มต้นจากปัญหาการขอวีซ่าเพื่อเข้ามาทำงานในด้านนี้ซึ่งต้องได้รับความสะดวกสบาย และสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อส่งเข้าอนุมัติใน ครม. แล้ว โดยน่าจะมีความสะดวกสบายในเรื่องดังกล่าวในไม่ช้า ซึ่งน่าจะอนุมัติบุคลากรที่จบการศึกษาด้านนี้จากมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกว่า 600 แห่งให้สามารถสมัครขอวีซ่าเข้าไทยแบบอยู่ระยะยาวได้
ทั้งนี้ อยากเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยากให้ทุกหน่วยงานอย่ายึดติดกรอบ หรือ ถ้าติดข้อกฎหมายตรงไหน ก็ต้องเร่งแก้ไข พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงและคิดให้ครบทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ โดยตั้งแต่ขั้นตอนการขอทำวีซ่า การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมได้มาตรฐาน ความสะดวกในการทำธุรกิจ การจดทะเบียนบริษัทและการขอรับใบอนุญาตด้านต่างๆ ผ่านออนไลน์ การรับการส่งเสริมการลงทุน การหาเงินลงทุน และดึงดูดนักลงทุนที่สนใจ ตลอดจนขั้นตอนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากขึ้น ตรงไหนที่เป็นปัญหาก็ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ทั้งนี้ กสทช. ได้เตือนว่าจะต้องป้องกันปัญหาการหลอกลวงและมิจฉาชีพที่อาจจะมีแฝงตัวเข้ามาด้วย ซึ่งต้องหาวิธีตรวจสอบและป้องกัน
การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีแนวคิดที่ตรงกัน โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ให้สำเร็จได้ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศไทยอย่างมาก