รัฐบาลให้ความสำคัญปากท้องประชาชน เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน รวมถึงหนี้เกษตรกร มุ่งมั่นช่วยเหลือให้มีรายได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จริงจังเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกร และมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโครงการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ซึ่งขยายมาจากนโยบายสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัส โดยที่มาของโครงการ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพตนเอง

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ต้องเป็นเกษตรกรและบุคคลที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ NPL) จำนวน 300,000 รายต่อปี (สะสม 3 ปี รวมจำนวนทั้งสิ้น 900,000 ราย) โดยปัจจุบันมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่แสดงความประสงค์พักชำระหนี้แล้วจำนวน 1,735,081 ราย ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ฯ จำนวน 908,300 ราย (ข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567)

...

น.ส.เกณิกา ระบุในช่วงท้ายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้แข็งแรง และถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในแง่ของการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย.