รัฐบาลเผยงานวิจัยจุฬาฯ แรงงานอาชีวะไทยฝีมือโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศ “เศรษฐา” เชื่อมั่น แข่งขันได้ในตลาดโลก สั่งเพิ่มศักยภาพ เสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ยกระดับอาชีวะไทย
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับแนวนโยบายในการยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งจากผลการวิจัยเกี่ยวกับแรงงานอาชีวศึกษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แรงงานอาชีวะไทยมีฝีมือโดดเด่น หากได้รับการฝึกฝนพัฒนาอย่างจริงจัง จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทย ระบุว่า แรงงานอาชีวะไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับและต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง นอกจากนี้ แรงงานอาชีวะไทยยังมีความแตกต่างจากแรงงานอาชีวะประเทศอื่น เนื่องจากมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เป็นมิตร กินอยู่ง่าย และมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งทำให้นายจ้างเกิดความประทับใจ
โฆษกรัฐบาล ระบุต่อไปว่า หากนักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนโดยการเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทาง รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้นักเรียนและแรงงานอาชีวะไทยมีความโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (อ่าน ผลการวิจัยเกี่ยวกับแรงงานอาชีวศึกษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
...
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาไทยต่อภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้สั่งการเดินหน้านโยบายยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล เสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง รวมถึงทักษะที่มีแนวโน้มจำเป็นในอนาคต เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ พร้อมแสวงหาความร่วมมือด้านอาชีวศึกษากับประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักเรียนและบุคลากร และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน รวมถึงแก้ปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมภาพลักษณ์อาชีวศึกษาไทยในเชิงบวก เพื่อสนับสนุนให้มีการเรียนสายอาชีพมากขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะมีฝีมือจากอาชีวศึกษาในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
ในช่วงท้าย โฆษกรัฐบาล เผยว่า “นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและแรงงานด้านอาชีวศึกษา โดยเชื่อว่านักเรียนและแรงงานอาชีวะมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีศักยภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยรัฐบาลเดินหน้าเสริมจุดแข็งแก่ระบบอาชีวศึกษาไทย ทั้งการ Upskill และ Reskill ส่งเสริมการพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็น ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของแรงงานไทยในระดับโลก”