ภาพรวมของ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ปีนี้ มีปัจจัยลบจากสภาพของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ คาบลูกคาบดอก ระหว่าง ไปต่อ หรือ ล่มจม เข้าใจว่า นายกฯเศรษฐา ทวีสิน น่าจะเข้าใจได้ดีที่สุดเพราะคลุกคลีในวงการนี้มานาน เจ็บมาเยอะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์นอกจากมาตรการลดภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆที่มีผลโดยตรงแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศก็ล้วนแล้วแต่เป็นอานิสงส์ของอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลทางธุรกิจ ระบุว่า พิษเศรษฐกิจ ทำให้คอนโดฯและบ้านพักอาศัยที่ ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยอดการโอนลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการไม่ปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์มากกว่าร้อยละ 60 หรือเกินครึ่งของจำนวนที่ขอสินเชื่อ จากเดิมที่มีอัตราการเจริญเติบโตกว่าร้อยละ 10 หลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนที่อยู่อาศัย ราคาตั้งแต่ 3-5 ล้านบาท ยังมีการเติบโต ราคา 5.7.5 ล้าน กลับมาติดลบ กลุ่มระดับราคา 7.5 ล้านขึ้นไป ยังมีอัตราการเติบโต
พอจะบ่งบอกของสถานภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้ออยู่ที่คนระดับใดบ้าง กลุ่มผู้ใช้แรงงานพนักงานลูกจ้างทั้งภาครัฐภาคเอกชน นอกจากจะไม่มีแรงซื้อแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดหนี้เสียจากกลุ่มคนเหล่านี้ กำลังซื้อยังอยู่ที่คนระดับกลางและระดับบน ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนระดับฐานราก ทำให้กำลังซื้อในประเทศไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่คิดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว อาทิ ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เป็นเมกะโปรเจกต์ที่จะสร้างการเติบโตของอีอีซี จนบัดนี้ 4 ปียังไม่มีการตอกเสาเข็มยังตกลงกันไม่ได้เรื่องสัดส่วนของการลงทุน ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้หันไปปั่นกระแสแลนด์บริดจ์อีกแล้ว ร้อนถึงคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ต้องเรียกร้องไปยังกลุ่มซีพีที่ชนะการประกวดราคา ช่วยเดินหน้าลงทุนด้วยเถอะ ล่าสุดบีโอไอไม่ยอมขยายเวลาการยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอีก ว้าวุ่นเลย
...
เรื่องของอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายระหว่าง รัฐบาลกับแบงก์ชาติยังมีความเห็นต่างกัน ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.5 เพื่อให้เกิดวินัยทางการเงินการคลังไม่ก่อหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า นโยบายดอกเบี้ยบ้านเราไม่ได้สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น หมายความว่ายังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย แต่ฝ่ายรัฐบาลอยากจะให้ลดดอกเบี้ยใจจะขาด
ที่น่าสังเกตคือ ไอเอ็มเอฟ ปรับจีดีพีของไทยปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 มากกว่าที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 แต่หน่วยงานภาครัฐ และแบงก์ชาติ กลับออกมาปรับลดการเติบโตที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 เท่านั้น
บทส่งท้ายของดิจิทัลวอลเล็ตจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยทั้งวิธีการแจกเงินแบบดิจิทัล ควรใช้เงินในงบประมาณไม่ควรกู้มาใช้ มีความเสี่ยงด้านข้อกฎหมายและประโยคเด็ดไม่อยากเป็นลูกหนี้ร่วม ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกา แบงก์ชาติ กกต. ก็ไม่มีใครเห็นด้วย ถ้าเรื่องหนี้เข้าสภา ไม่รู้ว่าจะมี สว. หรือ สส.พรรคร่วมยกมือสนับสนุนให้ผ่านหรือไม่ ครม.จะเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ ส่งเรื่องให้ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเมื่อไหร่ บทเรียนจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือโครงการรับจำนำข้าว ลอยมาแต่ไกลพระเอกตายตอนจบ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม