"กระทรวงวัฒนธรรม"(วธ.) เซ็นตั้ง "พลภูมิ" นั่งประธานคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม พ.ศ…. ดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Soft Power บุกตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ หนุนเศรษฐกิจชาติ
วันที่ 8 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายเดิมให้มีความทันสมัย เป็นสากล สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งระบบ และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน และจำเป็นต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
ล่าสุด นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และเกม พ.ศ.... โดยมี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา และปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และเกม พ.ศ. .... ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
...
นายพลภูมิ เปิดเผยว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) เช่น การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นต้น
โดยปี 2567 มีหนังไทยที่จะเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ ได้แก่ งาน Hong Kong International Film & TV Market เดือนมีนาคม, งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง (Hong Kong International Licensing Fair) เดือนเมษายน และการจัดงาน Thailand Culture Week ปี 2567 ในเดือนเมษายน ซึ่งทั้ง 3 งานนี้จะจัดขึ้นที่ฮ่องกง
นอกจากนี้ยังมีงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝรั่งเศส (Cannes Film Festival) ในเดือนพฤษภาคม งานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม และงาน Shanghai International Film Festival เดือนมิถุนายน ณ เมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายพลภูมิ กล่าวอีกว่า รัฐบาล และกระทรวงวัฒนธรรม ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย เข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ 3 เทศกาล ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม (International Film Festival Rotterdam : IFFR) เนเธอร์แลนด์ ในเดือนมกราคม, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) เยอรมนี เดือนกุมภาพันธ์ และเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า (Osaka Asian Film Festival : OAFF) ครั้งที่ 19 ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคมด้วย
ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และการเจรจาทางธุรกิจ จูงใจให้ชาวต่างชาติซื้อผลงานภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ของคนไทย เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย และร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์กับผู้ประกอบการไทย.