“จุรินทร์” สส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ย้ำรัฐบาลหมดข้ออ้างยื้อ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้ ถึงเวลาตัดสินใจแล้ว จะทำหรือไม่ทำ ออกตัวตนเองไม่ได้ขวาง บี้รัฐบาล การันตีต้องไม่โกงทั้งเชิงนโยบาย และปฏิบัติ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ว่า เรื่องนี้หมดเงื่อนไขที่จะซื้อเวลาแล้ว ดังนั้นต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าจนถึงเวลานี้ประชาชนก็รออยู่ เมื่อดูข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.โดยละเอียดถือว่ามีความชัดเจนและสะท้อนว่า ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่มีทีมงานทางด้านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงมาก ทั้งการให้ความเห็น และการทำหน้าที่ตรวจสอบในอนาคต ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ในประเด็นสำคัญ คือ ป.ป.ช.ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติในเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการถกกันแล้ว ต่อมาคือถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำโครงการ ต้องคำนึงว่าจะไม่ก่อให้เกิดการทุจริต และทำผิดกฎหมาย โดยต้องไม่ทุจริตเชิงนโยบาย และในภาคปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสุดท้าย ป.ป.ช.จะไปตรวจสอบว่า พรรคการเมืองที่หาเสียงไว้เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลแล้วการหาเสียงกับการทำจริงตรงกันหรือไม่
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลตัดสินใจจะดำเนินโครงการนี้ต่อจะเกิดผลกระทบอย่างไรนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลเมื่อไปหาเสียงมาแล้วก็ต้องทำ ซึ่งตนพูดมาตลอด และตนไม่ได้ขวางเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่พูดเรื่องความรับผิดชอบของพรรคการเมือง เมื่อไปหาเสียงไว้แล้วก็ต้องทำอย่างที่หาเสียง เมื่อมีโอกาสมาเป็นรัฐบาลจะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องทำให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบมากขึ้น หากจะใช้นโยบายประชานิยม ก็ต้องเป็นประชานิยมแบบรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งทำให้ตรงปก และรับผลที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านอื่นๆ
...
เมื่อถามย้ำถึงการรอความคิดเห็นของ ป.ป.ช. ถือเป็นการยื้อเวลาเพื่อไม่ให้เกิดโครงการนี้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า หมดเวลายื้อแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็อ้างกฤษฎีกา วันนี้ก็อ้าง ป.ป.ช. และไม่น่ามีเงื่อนไขอะไรหลงเหลือที่จะซื้อเวลาอีกแล้ว ย้ำว่าต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ส่วนเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจนั้น หากมองเรื่องปากท้องประชาชน ก็เดือดร้อนจริง แต่ภาษากฎหมายที่บอกว่า ถ้าจะไปกู้เงินมาแจกจะต้องเข้าเงื่อนไขเศรษฐกิจวิกฤติ คำว่า "เศรษฐกิจวิกฤติ" หมายถึงเศรษฐกิจมหภาคซึ่งเป็นเรื่องที่พูดชัดแล้ว เรื่องที่เหลืออยู่อย่างเดียวคือการตัดสินใจของรัฐบาล และเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะทำหรือไม่ทำ ดังนั้นก็ควรตัดสินใจได้แล้ว ทั้งนี้ตนติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นและเคยพูดในสภาไปแล้วว่าจะทวงถามแทนประชาชน วันนี้ก็ถามอีกรอบ.