"วรศิษฎ์" สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย เผยร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมงฯ ฉบับภูมิใจไทย เข้าสภาฯ 7 ก.พ. แจงหากผ่านจะทำให้ชาวประมงนอนหลับฝันดี-ไม่ต้องผวาค่าปรับมหาโหด จนชีวิตล้มละลาย
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.67 นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.จังหวัดสตูล กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. ..... เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับคณะ โดยบรรจุวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 7 ก.พ. 2567 กฎหมมายดังกล่าวพิจารณาเมื่อสภาสมัยที่แล้ว ด้วยเงื่อนของเวลาทำให้ไม่ทัน กฎหมายก็เลยตกไป พอมาสมัยนี้เราก็เลยดำเนินการเรื่องนี้ต่อ ซึ่งได้เตรียมข้อมูลตั้งแต่เป็น สส. สมัยที่แล้ว รอบนี้เป็นสมัยที่สองก็จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อมาศึกษาปัญหา 2-3 รอบ และได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาแล้วยื่นเข้าสภาฯ ไปในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็จะมีขึ้นในสภาในวันที่ 7 ก.พ.นี้
สำหรับข้อมูลที่ได้รับมาจากทั้งพี่น้องชาวประมงโดยตรง ทั้งในเรื่องของการศึกษาจากคณะกรรมาธิการของสภารวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมประมง ส่วนราชการ มีการรวบรวมข้อมูลมาทั้งหมดเพื่อที่จะมาปรับเปลี่ยนให้กฎหมายประมงที่เรากําลังจะแก้ ซึ่งตรงกับความต้องการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อถามว่า จะมีการแก้กฎหมายอะไรบ้าง นายวรศิษฎ์ กล่าวว่า หน่วยงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประมงมีหลายฉบับ หลายกระทรวง และหลายหน่วยงาน แต่ว่าพรุ่งนี้ตัวกฎหมายที่จะแก้ก็คือ พ.ร.ก.ประมง 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่บังคับในเรื่องของการทําประมง หลักๆแล้วจะเป็นเรื่องของการเข้าไปดูบทกําหนดโทษ ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม เช่น กฎหมายที่ออกมากลั่นแกล้งประชาชน กฎหมายฉบับนี้เหมาะที่สุดแล้วที่จะใช้คําจํากัดคําว่า คําจํากัดความคํานี้ กับกฎหมายฉบับใหม่ เหมือนหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงประมง หรือว่าไม่เคยทําประมงอาจจะไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณออกเรือไปโดยปกติ จะต้องมีการรายงานว่าคุณจะออกกี่โมง ออกไปมีคนงานกี่คน จะกลับเข้ามากี่โมง มีสัตว์น้ำกลับมาเท่าไหร่ ถ้ารายงานผิด คุณโดนปรับ 500,000 หรือการกระทำความผิดที่โดนบัญญัติไว้ในข้อความผิดร้ายเเรง เรือบางลำก็โดนปรับเป็นหลักร้อยล้าน ถามว่าควรจะต้องปรับขนาดนั้นหรือเปล่า
...
"สำหรับอาชีพทำการประมงนั้น พวกเราก็ทํากันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่ทําไมถึงจะต้องมีการลงโทษที่หนักหนาสาหัสขนาดนี้ ตนไม่ได้ปกป้องคนทําผิดกฎหมาย ที่จะต้องดูแลป้องกันให้คนทําผิด ควรจะต้องมีแต่มูลฐานความผิด ต้องดูด้วยว่าหนึ่งความตั้งใจเขาเป็นแบบไหน มีการตักเตือนก่อนหรือไม่ ปัจจุบันมีเคสที่จะต้องโดนปรับมากกว่าหมื่นเคส วงเงินเป็นพันล้าน ผมว่า พ.ร.บ.ประมงเดิมที่ไม่ได้แก้ไข น่าจะเป็นกฎหมายที่ปรับแล้วได้เงินเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยซ้ำไป ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น" นายวรศิษฎ์ กล่าว
นายวรศิษฎ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการแก้กฎหมายในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ถ้าสำเร็จสภาผ่านการพิจารณา สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ทำอาชีพประมงเขาจะสามารถทําประมง แล้วก็สามารถนอนหลับได้แบบสนิทโดยที่ไม่ต้องผวาว่า ตื่นมาจะโดนโทษอะไร จะโดนปรับกี่ล้าน หรือต้องมานั่งระแวงในทุกการกระทําทุกอย่าง จะทําให้กลับมาใช้ชีวิตแล้วก็ทําอาชีพประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าวันใดวันหนึ่ง เราอาจจะล้มละลายกับความผิด ที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ นี่คือพ.ร.บ.ฉบับพรรคภูมิใจไทย