วันนี้ (7 ก.พ.) สมเด็จฯฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จึงเป็นโอกาสดีงามที่ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” จะหยิบยกประเด็นความร่วมมือพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 26,000 ตร.กม. ซึ่งมีแหล่งนํ้ามันดิบและหลุมก๊าซธรรมชาติประเมินมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรม

ถ้าการพูดคุยเจรจา “เศรษฐา-ฮุน มาเนต” สำเร็จได้โดยเร็ว??

เราจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกไม่ตํ่ากว่า 30 ปี

โดยไม่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติราคาโคตรแพงให้ปวดกระดองใจ

ถ้าจับมือกันได้ ประเทศกัมพูชา และประเทศไทยจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานอีกกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี!!

ข้อสำคัญ หลุมก๊าซธรรมชาติ “แหล่งเอราวัณ” ในอ่าวไทยก็ร่อยหรอลงทุกวัน

แหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ทั้ง “แหล่งยาดานา” “ แหล่งเยตากุน” ก็ใกล้จะหมดอายุการใช้งาน

จึงเป็นไฟต์บังคับให้นายกฯเศรษฐาต้องรีบเจรจากับนายกฯฮุนมาเนต ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

เพราะกว่าจะดูดนํ้ามันดิบและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ต้องใช้เวลาดำเนินการอีกไม่ตํ่ากว่า 5 ปี!!

“แม่ลูกจันทร์” มองว่าช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชากำลังหวานเจี๊ยบอย่างแรง

มีแนวโน้มว่าการเจรจาระหว่างนายกฯไทยกับนายกฯกัมพูชาจะลงเอยได้ด้วยดี

แต่...มีเสียงท้วงติงจากฝ่ายความมั่นคงว่าต้องเจรจาปักปันเขตแดน 2 ประเทศให้เสร็จก่อนแล้วจึงค่อยเจรจาร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

เพราะหากเจรจาแหล่งพลังงานก่อน ไทยอาจเสียเปรียบกัมพูชา??

...

“แม่ลูกจันทร์” มองว่าขืนรอให้การเจรจาปักปันเขตแดนให้จบคงต้องรอไปอีก 10 ปี 20 ปี

เพราะกว่าจะตีเส้นเขตแดนได้ทีละคืบทีละศอก ต้องใช้เวลาสำรวจสภาพ พื้นที่และพิสูจน์หลักฐานกันอีกยืดยาว

ฉะนั้น ในช่วงวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ขาดแคลน

ควรเน้นเป้าเจรจาร่วมพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติให้จบก่อน

เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติคือ ปัจจัยหลักที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย!!

ส่วนการเจรจาปักปันเขตแดนทางบก ทางทะเล ซึ่งยักแย่ยักยันมากว่า 70 ปี ยังมีเวลาเจรจาต่อไปอีกยาวนาน

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯและ รมว.พลังงาน ที่เสนอให้จัดตั้งบริษัทบริหารกลาง ซึ่งมีรัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลไทยเป็นหุ้นส่วนกัน

เพื่อจัดสรรผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานอย่างยุติธรรม

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาต้องชักเข้าชักออกมา 20 ปี

เพราะไปเน้นเจรจาปักปันเขตแดนเป็นประเด็นหลัก

การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นประเด็นรอง

เรื่องง่ายจึงกลายเป็นเรื่องยาก เรื่องสั้นจึงกลายเป็นเรื่องยาวด้วยประการฉะนี้แลเฮย.

“แม่ลูกจันทร์”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม