“พิธา” ยิ้มบอกสื่อ สส.ทุกคนในพรรคยังอยู่กับเรา บอกโหวตเตอร์ เราทำเต็มที่แล้ว เสียดายใช้สภาถกเถียงเรื่องสำคัญไม่ได้ ยัน ไม่คิดแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติด้าน “ชัยธวัช” เผย ขอดูคำวินิจฉัยตัวเต็มก่อน หวั่นเรื่องขอบเขตอาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ขอหารือก่อน กระทบเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่

เมื่อเวลา 16.27 น. วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย นโยบายหาเสียงแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง 

โดยผู้สื่อข่าว ได้ถามว่าจะมีการเตรียมการต่อ ในเรื่องการจะถูกดำเนินคดีหรือยื่นยุบพรรคก้าวไกลอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มอีกครั้ง เพื่อความไม่ประมาททางกฎหมาย เมื่อถามว่าจะมีการต่อสู้หรือโต้แย้งในเรื่องต่างๆ ทางไหนหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นที่สุด โต้แย้งไม่ได้ ก็ต้องเตรียมทุกฉากทัศน์ แต่ไม่ได้กังวลอะไร แต่ก็ไม่ได้ประมาท 

เมื่อถามว่า เรื่องการยุบพรรคกลัวจะเป็นเรื่องซ้ำรอยกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า มันยังไม่ถึงตรงนั้น โดยขั้นตอนต่อไปเราต้องขอเอกสารตัวเต็ม เพื่อเตรียมรับมือในทางกฎหมาย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อถามว่า ศาลมีการเอ่ยถึงสมาชิกพรรคที่มีการไปประกันตัวผู้ต้องหาใน ม.112 นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหา ที่เรามีความกังวลต่อคำวินิจฉัยที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น การที่บอกว่า การที่มี สส.พรรคก้าวไกล ไปประกันตัวกับผู้ต้องหา ม.112 ว่าพรรคมีเจตนาล้มล้างการปกครองถือว่ามีปัญหา หลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาอะไร บุคคลใดก็ต้องถูกมองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงถือว่าขัดกัน 

...

“เอาเข้าจริงๆ การประกันตัวไม่ว่าข้อหาใดๆ ถือเป็นการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของทุกคน กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ยกเว้นว่าแจ้งข้อกล่าวหานี้ จะต้องถือว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์หรือห้ามประกันตัว ใครเข้ามาเกี่ยวข้องจะถือว่ามีความผิดไปด้วย ไม่เช่นนั้น ผู้พิพากษาที่วินิจฉัยให้ผู้ถูกกล่าวหาในการกระทำผิด ม.112 ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระบวนการล้มล้างการปกครองไปด้วยหรือไม่ เราถึงมีความกังวล เอาล่ะ คำวินิจฉัยออกมาแล้วแต่มันอาจจะส่งผลกระทบในหลักเกณฑ์ในการตีความ ความไม่ชัดเจนแน่นอน ในการใช้กฎหมาย เราก็ไม่รู้ว่าเอามาร้อยรัดกันตีความในเจตนา แล้วแต่ใครจะตีความ ก็อาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต รวมถึงเรื่องขอบเขต อะไรทำได้ ไม่ได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต” นายชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่าเรื่องการแก้ไข ม.112 ตามนโยบายที่พรรคมี แสดงว่าไม่สามารถทำได้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีปัญหา เพราะในคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้มี 2 เรื่อง คือ 1.สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด พิมพ์ เขียน โฆษณา เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมาย ม.112 ซึ่งพรรคจะต้องหยุดพูดเรื่องนี้โดยสิ้นเชิงหรือไม่ อย่างไร หรือ พูดได้อย่างเดียวในเรื่องการสนับสนุนอย่างเดียวหรือไม่อย่างไร หรือแม้กระทั่งสื่อ ประชาชนทั่วไป จะแสดงความคิดเห็นได้หรือไม่ เพราะอาจถูกตีความว่ามีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึง ข้อเสนอของ  คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ของอาจารย์คณิต ณ นคร ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ สส.พรรคก้าวไกลนำมาใช้เสนอในการแก้ไข หากอิงตามคำวินิจฉัยนี้จะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองด้วย เพราะมีการเสนอในสำนักพระราชวังร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตนเอง

ส่วนอีกเรื่องคือไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่วิธีการนิติบัญญัติโดยชอบ ก็ไม่ทราบว่าหมายความอะไร จึงต้องดูคำวินิจฉัยโดยละเอียด และยังไม่นับว่าถ้ามีการเสนอกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเข้ามาพิจารณาได้หมด แม้ไม่ผ่านวาระที่ 1-3 ก่อน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบและเป็นปัญหาในอนาคตได้ 

เมื่อถามว่า 44 คน ที่เคยเข้าชื่อเสนอแก้ไขม.112 อาจจะถูกลงโทษร้ายแรงถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด แน่นอนว่าการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ ยืนยันว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกล เรามีเจตนาที่จะยุติ เรื่องประเด็นพระมหากษัตริย์เพื่อมาลดความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเสนอของสส.พรรคก้าวไกล คือไม่ต้องการให้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำร้ายซึ่งกันและกัน เพราะไม่ต้องการเปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น แสวงหาผลประโยชน์ ยันยันว่าเจตนาของเรา ไม่ใช่อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อถามว่าการแก้ไขม.112 ไม่ได้มีแค่พรรคก้าวไกล แต่ยังมีพรรคอื่นด้วย นายชัยธวัช กล่าวว่า เมื่อศาลบอกว่าการมีนโยบายแก้ไข ม.112 เป็นการนำพระมหากษัตริย์เข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และประชาชน คำถามของตนเองคือ พรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่าตนเองเป็นผู้จงรักภักดี อีกพรรคไม่จงรักภักดี หรือการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียง ถือเป็นการลดทอนบ่อนเซาะทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในฐานะเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ 

ด้านนายพิธา ได้ตอบคำถามสื่อต่างชาติ ที่ถามว่า มีอะไรอยากฝากถึงกลุ่มโหวตเตอร์หรือไม่ โดยกล่าวว่า เราทำเต็มที่แล้ว ในการจุดเหมาะสมของกฎหมายและปกป้องสถาบันกษัตริย์ไปด้วย ส่วนอีกเรื่องคือ ขอบเขต ระหว่างนิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมทางการเมือง เมื่อเราเห็นพลังของของสังคม เราก็อยากจะเป็นตัวแทนของสังคม เราก็เสนอทุกกฎหมาย ที่เป็นข้อถกเถียงกันนอกสภา แต่คำวินิจฉัยของศาลค่อนข้างมีขอบเขต เจ็บปวด และซ่อนเร้น เกี่ยวกับสถาบัน ที่ไม่ใช่แค่ในไทยแต่ยังรวมถึงที่อื่นๆ ในโลกนี้ด้วย อีกทั้งเรายังสูญเสียพื้นที่การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรากังวล แต่ไม่ได้กังวลทั้งหมด 

“เราต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าเราสูญเสียพื้นที่ทางสภาในการหารือ และ มีฉันทามติ ในการถกเรื่องสำคัญ เพราะรัฐสภาถือเป็นสถานที่ที่ดีที่สุด แต่เราก็สูญเสียโอกาสนั้นไปแล้วในวันนี้” นายพิธา กล่าว

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จะกระทบต่อกฎหมายในสภามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายพิธา กล่าวว่า ต้องกลับไปหารือ ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลของคำวินิจฉัย การตีความที่ดูเหมือนไม่มีขอบเขต อาจถูกตีความว่าการนิรโทษกรรมให้ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ต้องขัง อาจมีเจตนาล้มล้างการปกครองก็ได้ โดยในสมัย ร.5 ก็มีบทยกเว้นความผิด ที่ไม่ได้มีปัญหาใดๆ เลยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง และในอนาคต ไม่รู้ว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอีก 

เมื่อถามว่า เรื่องการแก้ไข 112 จะถอยหรือจะยังยึดอยู่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เป็นเรื่องของสภา เพราะร่างกฎหมายเสนอไปแล้ว เพราะเราคิดว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาถือเป็นข้อยุติที่เรายอมรับร่วมกันได้ 

เมื่อถามว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จะไปยื่นยุบพรรคก้าวไกลในวันพรุ่งนี้ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร นายพิธา กล่าวว่า คงต้องดูในคำร้อง

“ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาวาระซ่อนเร้น ที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติ ที่กังวลคือ นิยามความเป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กังวลใจในเรื่องขอบเขต ระหว่างนิติบัญญัติและศาลรัฐธรรมนูญ ว่าอะไรทำได้ไม่ได้ และหากลงในรายละเอียดคือเรื่องนิติรัฐ เช่นการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิประกันตัว สิทธิในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงสื่อสารว่าไม่ใช่เรื่องของตนเองคนเดียว หรือ ชะตากรรมของพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่อาจมีคนนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง แล้วใช้รัฐสภานี้ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาดความคิดได้ ว่าควรจะเป็นลักษณะไหน แล้วเราหานิยามร่วมกัน แต่เป็นนิยามที่ออกมาจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงต้องดูในรายละเอียดแล้วกลับมาหารือกันอีกครั้งว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร” นายพิธา กล่าว

เมื่อถามว่า ได้คุยกับสส.ในพรรคทั้ง 151 คนหรือไม่ ว่าหลังคำวินิจฉัยแล้ว จะมีใครสละเรือหรือยังยืนยันจะอยู่กับพรรคต่อ นายพิธา กล่าวว่า ทุกคนยิ้มหมด แสดงว่ายังอยู่กับเรา 

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี