“ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่โรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 เผยผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนเด็กพิเศษ แต่ขอรอผลสืบสวนให้ชัดเจน ชี้ มาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนต้องเข้มขึ้น ครูและผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน
วันที่ 29 มกราคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีเหตุนักเรียนถูกทำร้ายร่างกาย ณ โรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 ว่า จากหลักฐานที่เรามี เด็กนักเรียนผู้ก่อเหตุไม่ใช่เด็กพิเศษ ไม่ได้เข้าชั้นเรียนเด็กพิเศษ ส่วนที่บอกว่าเขาเด็กพิเศษอาจจะเป็นการสังเกต เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะเรามีเด็กพิเศษอยู่ในโรงเรียน กทม. หลายคน เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าทุกคนกลัวเด็กพิเศษไปหมด และเด็กพิเศษมีหลายรูปแบบ อย่าเอาเรื่องนี้เป็นประเด็น รอเรื่องการสืบสวนให้ชัดเจนก่อนว่าปัญหาเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องการบูลลี่ด้วย
สำหรับมาตรการความปลอดภัย นายชัชชาติ ระบุว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้คงต้องระวังพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการเอาอย่างกัน เลียนแบบกัน โดยเรื่องแรก การตรวจอาวุธต้องเข้มข้นขึ้น ตรวจตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียนก็ต้องระวังด้วย เช่น กรรไกร มีดทําอาหารที่อยู่ในโรงเรียน อาจต้องมีการเก็บให้เป็นระเบียบมากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีการตรวจอยู่ แต่อาจจะไม่ได้ 100% ทุกวัน เพราะเกี่ยวกับเรื่องของเวลา เรื่องของสิทธิของนักเรียนด้วย ผู้ปกครองก็อาจจะต้องมาช่วยกันดูด้วย เพราะบางทีเป็นนักเรียนหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน
เรื่องที่ 2 คือการหาข้อมูลให้ชัดเจน เช่น ถ้าเกิดเหตุหรือเด็กสังเกตเห็นพฤติกรรมต่างๆ ทําอย่างไรให้เด็กกล่าวมาบอกเรา หรือครูแนะแนว ครูโฮมรูม สามารถสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติได้เพื่อป้องกันเหตุ ต้องสร้างบรรยากาศที่เด็กสามารถกล้ามาบอกเรื่องราวต่างๆ รวมถึงผู้ปกครองเองก็อาจจะมีส่วนสังเกต หรือเด็กมาเล่าให้ฟัง เพราะว่าจะได้ช่วยกันแก้ปัญหา ความร่วมมือจากทุกส่วนเป็นเรื่องที่สําคัญ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเน้นต่อไป
...
เรื่องที่ 3 อาจจะเป็นเรื่องการเสริมสร้างหลักสูตรให้เด็กด้านเรื่องจิตใจ ไม่เน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องมีเรื่องการดูแลความรู้สึก เรื่องจิตใจ เรื่องการบอกปัญหาต่างๆ ให้ครูช่วยรับฟัง รวมทั้งบริบทต่างๆ ของชุมชนพื้นที่ด้วย อย่างโรงเรียนนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องมีเยาวชนจากด้านนอกมีพฤติกรรมที่เกเรนิดหน่อย ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วผู้ปกครองให้ความเห็นที่น่าสนใจ บอกว่าจริงๆ แล้วไม่อยากให้เด็กแต่งชุดไปรเวท เพราะว่าเด็กที่มาโรงเรียนไม่สามารถแยกเด็กเกเรที่อยู่นอกโรงเรียน กับเด็กที่แต่งตัวโรงเรียนได้ ซึ่งน่าสนใจ ก็เป็นมิติหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่มิติเรื่องสิทธิภาพของเด็ก แต่เป็นเรื่องบริบทโดยรอบ และเรื่องความปลอดภัยของเด็ก อันนี้ต้องให้ไปประเมินว่าจะมีผลเรื่องความปลอดภัยหรือไม่
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุต่อไป อีกวิธีคือร่วมมือกันระหว่างครูกับผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองเป็นเนื้อเดียวกับโรงเรียน มีความร่วมมือกับเขต กับตํารวจ ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันปัญหาต่างๆ ก็น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างดีขึ้น ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างแก้ กทม. เองรับผิดชอบเรื่องกายภาพ ไฟฟ้าส่องสว่าง ทางเดิน กล้อง CCTV ให้มีความพร้อม เขตต้องลงพื้นที่ที่มีการมั่วสุมนอกโรงเรียน
ทั้งนึ้ กทม. ต้องถอดบทเรียนเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งมี 2 ส่วน คือ ที่มาของอาวุธ เอาเข้ามาโรงเรียนได้อย่างไร อันนี้คงต้องป้องกันตรงนี้ และเรื่องพฤติกรรม เราจะแยกพฤติกรรมนี้ออกมาได้อย่างไร เราจะดูแลเด็กที่อาจจะมีพฤติกรรมที่ได้รับการบําบัด หรือว่าทําให้ดีขึ้นอย่างไร คงต้องมีการสร้างความไว้วางใจให้กับเด็ก ให้เขากล้ามาเล่าให้เราฟัง สื่อสารกับเราอย่างรวดเร็ว สะดวก และไม่กังวล สุดท้ายแล้วก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ต้องบอกว่าเป็นความรับผิดชอบผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง ต้องออกนโยบายออกการปฏิบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องเป็นผู้ที่ช่วยกันปฏิบัติให้ แต่เราต้องสนับสนุนทุกอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง.