“พิชัย” ชี้ เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดการณ์ จี้ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ แนะผู้ว่าฯ ธปท. เร่งเพิ่มจีดีพี ต้องรีบแก้ไข อย่าแก้ตัว พร้อมถาม ละอายหรือไม่ 4 ปีเศรษฐกิจไทยอยู่กับที่ ไม่มีการเจริญเติบโต

วันที่ 29 มกราคม 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อยู่ที่ 1.4% ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2566 อยู่ที่เพียง 1.8% ซึ่งนับว่าต่ำมาก ตรงกับที่ตนได้เตือนไว้แล้วว่า เศรษฐกิจปี 2566 จะขยายได้ไม่ถึง 2.4-2.5% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ทั้งที่ทั้ง 2 หน่วยงานลดการคาดการณ์จากเดิมที่ 3.6% ลงมาแล้วแต่ก็ยังไม่ถึง 

ดังนั้น อยากให้ ธปท. และสภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจตามความเป็นจริง เพราะที่ผ่านมาทุกปีการคาดการณ์ผิดพลาดอย่างมากมาโดยตลอด และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็จะไม่ดีเช่นกัน ถ้าหากไม่เร่งช่วยกันแก้ไขปัญหา และช่วยสนับสนุนแนวทางใหม่ๆ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่เกี่ยวกับทุกแนวทางที่สามารถทำได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปมากกว่านี้ 

นายพิชัย ยังกล่าวต่อไปถึงกรณีที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ว่า เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ แต่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ จึงอยากถามว่าถ้าขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มากเป็นเวลานาน 10 ปีติดต่อกัน เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ ถือเป็นวิกฤติในอีกรูปแบบหนึ่งใช่หรือไม่ และตั้งแต่ปี 2563 ที่ผู้ว่าฯ ธปท. เข้ารับตำแหน่งจนจะครบเทอมในปลายปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในแดนลบมาตลอด ไม่ทราบว่าท่านผู้ว่าฯ ธปท. ทราบหรือไม่ เพราะในปี 2563 ที่ผู้ว่าฯ ธปท. เข้ารับตำแหน่ง เศรษฐกิจไทย ติดลบหนักที่ -6.1% โดย 3 ปีต่อมา คือ ปี 2564 (ขยาย +1.6%) ปี 2565 (ขยาย +2.6%) ปี 2566 (ขยาย +1.8%) รวมกัน (1.6% + 2.6% + 1.8% = 6%) ซึ่งยังไม่ถึงที่ตกลงมาเลย เท่ากับประเทศไทยอยู่กับที่หลังจาก 4 ปีแล้ว 

...

ทั้งนี้ หากตนเองเป็นผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องรู้สึกกังวล เดือดร้อน และผิดหวัง เพราะประเทศส่วนใหญ่ขยายตัวในปี 2564 มากกว่าปี 2563 ที่ตกลงมาแล้ว และปัจจุบันบางประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 15-20% ด้วยซ้ำ เช่น ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2563 เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า 20% แต่ไทยกลับยังอยู่กับที่ ถ้าหากผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ก็น่าจะมีปัญหาในวิธีคิด อีกทั้งจากการสำรวจของรายการ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ พบว่า 93% ของประชาชนเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤติ โดยมีผู้เข้าโหวตถึงกว่า 2.4 แสนคน ผู้ว่าฯ ธปท. คงต้องไปอธิบายให้คน 93% เหล่านี้เข้าใจว่าทำไมถึงไม่วิกฤติ

“การที่ผู้ว่าฯ ธปท. สัมภาษณ์ว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากขึ้น ต้องปรับโครงสร้าง จึงอยากถามว่าท่านผู้ว่าฯ ได้ทำอะไรเพื่อเป็นการสนับสนุนการปรับโครงสร้างบ้าง ถ้านึกไม่ออกจะขอเสนอแนวทางการพิจารณา โดยเริ่มต้นจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ลง เพื่อให้ช่วงห่างระหว่างเงินกู้และเงินฝากลดลง ลดภาระของประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เข้าใจดีว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลงยังไม่ได้ เพราะต้องคำนึงผลกระทบหลายทาง แต่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์โดยลดช่วงห่างของเงินกู้เงินฝากลง ธปท. สามารถบังคับทำได้ทันทีและควรต้องเร่งทำ” 

สำหรับการดำเนินการ อาจทำผ่านคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) อย่าปล่อยให้รายได้ จีดีพีที่เพิ่มขึ้นไปตกอยู่กับธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมด เพราะกำไรของธนาคารพาณิชย์กว่า 2.2 แสนล้านบาทนั้น มากกว่า 1% ของจีดีพีแล้ว รวมถึงต้องให้ธนาคารพาณิชย์กระจายการปล่อยกู้ให้เข้าถึงรายย่อยและ SMEs ด้วย โดยเฉพาะการช่วยเหลือ SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง แต่ธุรกิจยังมีอนาคตที่จะไปรอดได้ 

นอกจากนี้ ในปี 2567 คาดกันว่าสภาพคล่องในระบบการเงินและการธนาคารจะเป็นปัญหา ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำลง จึงอยากถามว่า ธปท. ได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างไร อีกทั้งพันธบัตรเงินกู้ ตราสารหนี้ และหุ้นกู้ของหลายบริษัทกำลังจะมีปัญหาการชำระไถ่ถอน ธปท. เตรียมรับมืออย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ อยากให้ ธปท. กลับไปทบทวนว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา การกำหนดนโยบายทางการเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. สนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยขนาดไหน และควรจะต้องปรับแก้อย่างไรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ เหมือนที่แบงก์ชาติของหลายประเทศที่มีความสามารถแข่งขันสูงทำกัน 

“อยากให้ท่านผู้ว่าฯ ธปท. ได้มีโอกาสสัมผัสปัญหาของประชาชนที่รายได้ไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายเพิ่ม หนี้สินเพิ่ม อีกทั้งหลายคนต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมหาโหดที่รัฐบาลต้องโดดลงมาช่วยแก้ไขนี้ อย่าให้ประชาชนตำหนิได้ว่าท่านผู้ว่าฯ ธปท. รับรายได้ถึงปีละกว่า 20 ล้านบาท จึงไม่รู้ว่าประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร มีความทุกข์ และความลำบากกันอย่างไร ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ท่านผู้ว่าฯ ธปท. เร่งแก้ไข และเลิกแก้ตัวได้แล้ว โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าในเวลาที่เหลือในตำแหน่งนี้ ท่านผู้ว่าฯ ธปท. จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เท่าไร เพราะจะเป็นประวัติศาสตร์การทำงานของท่านผู้ว่าฯ ธปท. เองไปชั่วชีวิต ท่านผู้ว่าฯ ธปท. คงไม่อยากให้มีประวัติการทำงานว่าบริหารนโยบายการเงินมาตลอด 4 ปี แต่กลับทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่กับที่ ไม่ได้มีการเจริญเติบโตเลย จะเป็นเรื่องที่น่าละอายหรือไม่”