แคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังคงดำรงอยู่ นับเป็นประเด็นที่สำคัญ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ถูกจับตา
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดซีนาริโอการเมืองไทย กับ “ทีมข่าวการเมือง” หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พ้นบ่วงหุ้นไอทีวี ได้รับสถานะ สส.กลับคืนมา
โดยชี้ให้เห็นพรรค ก.ก.ได้รับพลังเสริมมากขึ้น การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรนับจากนี้ โดยเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาล ย่อมแหลมคม และเข้มข้นมากขึ้น ตอนที่ไม่มีนายพิธาเขาก็ทำได้ดีตามสมควร
นับจากนี้การเมืองเข้มข้นทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ
คะแนนนิยมของพรรค ก.ก.มีโอกาสขยับสูงขึ้น ประกอบกับพรรคเพื่อไทย (พท.) รัฐบาลเศรษฐา บริหารประเทศ 4-5 เดือน สร้างความผิดหวังให้กับประชาชน และคนที่เคยสนับสนุน
...
เพราะไม่มีนโยบายใดสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ฟรีวีซ่าไทย-จีนก็ไม่เป็นไปตามที่ประเมินเอาไว้ คงไปคาดหวังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีความเสี่ยงสูง รัฐบาล และพรรค พท.คงรู้มันมีความเสี่ยง ถึงไม่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
โครงการแลนด์บริดจ์ยิ่งไปกันใหญ่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ก็คลุมเครือ ขาดทิศทาง สะเปะสะปะ ไม่นับตลาดหุ้นที่ตกลงเรื่อยๆ ขืนปล่อยแบบนี้มันวิกฤติ ควรใช้งบกลางที่มีอยู่ไปก่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ผ่านถึงอัดฉีดลงไปอีก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ก็ถูกตั้งคำถามเยอะ ตอนนี้ทางการเมืองสับสนกรณีพรรค พท.ยื่นญัตติแก้ไข รธน. หลังรัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พรรค พท.ทำไมไม่ทำตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล
ประเด็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯก็ถูกตั้งคำถามเยอะต่อการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ และนิติธรรม เฉพาะปมนี้ทำให้แฟนคลับกลุ่มพันธมิตรฯ นักธุรกิจย่านเยาวราช รู้สึกผิดหวัง ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเทใจไปสนับสนุนพรรค ก.ก.
ล่าสุดนายพิธาเปิดศักราชของพรรคการเมืองไทย ประกาศแผนทำงานให้ประชาชนรับทราบ สร้างกระแสความสนใจ ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลต่อคะแนนนิยมในอนาคต
คนสนับสนุนพรรค ก.ก.ขยายช่วงอายุไปถึงผู้สูงอายุแล้ว
พรรค พท.ไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นความศรัทธาได้
เห็นชัดๆ จากผลโพลนิด้า หลังการเลือกตั้ง 3 เดือน คะแนนของนายกฯ แต่ละคนนำลิ่ว ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงตั้งรัฐบาลเสร็จใหม่หลังเลือกตั้ง คะแนนนิยมของนายกฯ นำผู้นำฝ่ายค้านเสมอ เพราะประชาชนมีความหวังต่อรัฐบาล มีความหวังต่อนายกฯ
แต่ครั้งนี้ความนิยมของนายกฯ กลับตามหลังนายพิธา แคนดิเดตนายกฯ ชนิดไม่เห็นฝุ่น ปรากฏการณ์แบบนี้น้อยมากที่เกิดขึ้น และร้ายไปกว่านั้น คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลง 5% เทียบกับช่วงเลือกตั้ง
ต่างกับความนิยมของนายพิธาที่ไม่ได้ลดลง ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในความนิยมของประชาชนมากที่สุด เป็นปรากฏการณ์ที่พรรค พท.ต้องคิดหนัก
กลุ่มชนชั้นนำต้องคิดหนัก และอยู่ในโลกความเป็นจริง
โลกความเป็นจริง คือประชาชนเกือบครึ่งต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตามนโยบายที่พรรค ก.ก.นำเสนอ
แต่พรรค พท.ไม่ได้ตอบสนอง คะแนนนิยมก็ไม่เพิ่ม และยังทำเหมือนไปตอบสนองความเป็นจริงในกรอบความคิดของกลุ่มคนที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิม ต้องการรักษาผลประโยชน์ และเครือข่ายแบบเดิม
อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ศาล รธน.นัดวินิจฉัย 31 ม.ค. 67 คดีพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิก มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ปี 64
เพราะโครงสร้างการเมืองไทย มีชนชั้นนำบางกลุ่มอยากสกัดพรรค ก.ก. แต่ชนชั้นนำบางกลุ่มที่มีสติปัญญา มีมุมมองที่ต่างออกไป อยากให้พรรค ก.ก.ทำงานในระบบรัฐสภา เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปได้ ไม่เกิดความขัดแย้ง ไม่ลามไปสู่ท้องถนน ไม่ลามไปสู่ความรุนแรง
“การต่อสู้บนท้องถนนสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจมากกว่า สั่นคลอนแบบซึมลึก ไปเปลี่ยนทัศนคติถึงความคิดของผู้คนต่อกลุ่มชนชั้นนำ
พอความคิดของผู้คนที่มีต่อกลุ่มชนชั้นนำเปลี่ยน โอ้โหกลับจากมาก ดูเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ปี 63 เป็นตัวอย่าง
เป็นบทเรียนที่ดี พอลามไปนอกสภาฯ ก็ลามไปไกล แม้กลุ่มชนชั้นนำอาจคุมอำนาจในเชิงกฎหมายได้ แต่ความคิดของผู้คนไปแล้ว
กลุ่มชนชั้นนำที่มีสติปัญญา จึงอยากให้การต่อสู้จำกัดวงอยู่ในสภาฯ เป็นไปตามขั้นตอนของประชาธิปไตย”
ฉะนั้นผลออกมาเป็นบวกต่อพรรค ก.ก. สถานการณ์การเมืองก็เป็นอีกแบบ ชนชั้นนำยังมีโอกาสสู้ในลักษณะสูสี
ยิ่งการเมืองในระยะสั้นยังมี สว.ที่ยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลทั่วไป มีเป้าหมายทางการเมืองแน่นอน ว่ากันว่า สว.สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แคนดิเดตนายกฯ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในโอกาสที่มีอยู่ก่อนครบวาระวุฒิสภาวันที่ 11 พ.ค. งานนี้กระทบต่อรัฐบาลแน่
เครดิตรัฐบาลเศรษฐายิ่งตกต่ำเข้าไปอีก
กรณีคดียื่นยุบพรรคภูมิใจไทยอาจกลายเป็นตัวแปร ตามโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น พรรคภูมิใจไทยจึงกลายเป็นหมากให้กับมือที่มองไม่เห็น
หากผลออกมาเป็นลบต่อพรรค ก.ก. ปมปัญหาตามมาทันที มีคนหยิบประเด็นนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบ และยื่นต่อศาล รธน. เพื่อยุบพรรค ก.ก.
ท่ามกลางต่างชาติจับตาดูอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากนายฟรังด์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนีเยือนไทย ตอบกรณีนายพิธาพ้นบ่วงคดีถือหุ้นไอทีวี เป็นตัวบ่งชี้ระบอบประชาธิปไตยไทยเหมือนกับมีความเป็นประชาธิปไตย เป็นสัญญาณที่ดี
หากเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 63 ยุคพรรคอนาคตใหม่
คงกระทบต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศไทย โดยพรรค ก.ก.คงจัดตั้งพรรคใหม่ ภายใต้อุดมการณ์เดิม นโยบายเดิม ดีไม่ดีอาจได้แรงสนับสนุนมากกว่าเดิม เพราะมีคนจำนวนหนึ่งมองว่าถูกรังแก
ทั้งหมดต้องการส่งสัญญาณให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการระบอบประชาธิปไตย หากไม่สกัดพรรค ก.ก. ยิ่งทำให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ใช่ หากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการรัฐสภา ต่อสู้กันไป ผลออกมาอย่างไรให้ประชาชนตัดสิน เป็นผลดีต่อประเทศไทยในภาพรวม
เป็นผลดีต่อสถาบันทั้งมวลในประเทศ
ในกระบวนการนี้ยังช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น สถาบันทั้งหมดในประเทศเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นักลงทุนทั้งใน และนอกประเทศมีความเชื่อมั่น ตัดสินใจเข้ามาลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยปริยาย
นายพิธาไม่ใช่แค่ได้สถานะ สส.กลับมา ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องการส่งสัญญาณให้สังคมเห็นอะไร รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ซีนาริโอที่อาจเป็นไป กลุ่มชนชั้นนำไม่ได้โง่จนเกิดไปเกินตระหนัก นายเศรษฐาและพรรค พท.นำพาประเทศไม่ได้ อาจตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงใช้สูตรการเมืองสุดท้าย
อาจผสมกับอีกซีกหนึ่งเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น อาจผสมกับพรรค พท.หรือพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมด้วย เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกของประชาชน
ให้นายพิธานำพาประเทศไทย
ทำให้เกิดความรู้สึกมีความหวัง.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม