ทันทีที่กลับเข้าสู่สภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ประกาศยุทธศาสตร์ 6 ประการ เป็นเป้าหมายของพรรค เช่น ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ การยกคุณภาพชีวิตประชาชน หยุดการแช่แข็งชนบทไทย กระจายอำนาจ การเรียนรู้ทันโลกคือตัดอำนาจนิยม

เป็นการประกาศนโยบายใหม่ๆ เสมือนหนึ่งว่าไม่สะทกสะท้านต่อปัญหาใหญ่ที่รอขม้ำอยู่ นั่นก็คือ คดีที่มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาดว่าการที่พรรคก้าวไกลหาเสียงเลือกตั้งด้วยการสัญญาว่าจะแก้ ป.อาญา ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ อาจนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดยืนกรานห้ามแตะ ม.112 โดยเด็ดขาด อ้างว่าเป็นการล้มระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสามารถแก้ไขกฎหมายได้ทุกฉบับ แม้แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็แก้ไขได้

แต่ ม.112 เป็นกฎหมายอาญา ย่อมสามารถแก้ไขได้ เช่นเดียวกับมาตราอื่นๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีใครล้มล้างระบอบการปกครองด้วย ม.112 แม้แต่ครั้งเดียว แต่มาตราที่ใช้ล้มระบอบการปกครอง ล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นประจำได้ถึง 13 ครั้ง คือ ม.113 ที่อยู่ติดกับ ม.112

ม.113 ระบุไว้ชัดเจน ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารหรืออำนาจตุลาการ “ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ” ต้องระวางโทษประหาร ชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วน ม.112 ไม่ได้ระบุว่าเป็นการล้มล้างการปกครองใดๆ และเคยมีการแก้ไข ม.นี้มาแล้ว

อาจเคยมีการแก้ไข ม.112 มาแล้ว กี่ครั้ง ไม่ทราบชัดเจน แต่ที่แก้ไขแน่นอน ก็คือ คณะรัฐประหารแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 หลังการยึดอำนาจ โดยเพิ่มโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี เท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ห้ามแก้ไข ม.112

...

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ อีก 10 คน เคยเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภา ได้แสดงความกล้าหาญทาง การเมืองด้วยการแก้ไข ม.112 โดยศึกษาแบบอย่างจากประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม