การห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชนใดๆ น่าจะเป็นประเด็นอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันต่อไป ไม่ใช่การวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่น่าจะเป็นประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญควรมีบัญญัติห้ามเรื่องนี้หรือไม่ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ควรยกเลิกเรื่องนี้หรือไม่
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ มีทั้งที่เป็นประชาธิปไตยจ๋าและเผด็จการเต็มใบ เพิ่งจะมีฉบับที่ 19 พ.ศ.2550 ที่ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม แต่ไม่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน เพิ่งจะมีบทลงโทษอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.
รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฉบับ 2517 ที่ได้มาจากการต่อสู้ของนักศึกษา ประชาชน หรือฉบับ 2540 ที่ยอมรับกันว่าสมบูรณ์ที่สุดและเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ แต่ห้ามรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้เงินอุดหนุนหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนเอกชน เช่น วิทยุ หรือทีวี
วัตถุประสงค์สำคัญของการ ห้ามรัฐมิให้ใช้เงินสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้รัฐครอบงำสื่อ และลิดรอนเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ส่วนการห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ ก็น่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้สื่อเป็นกระบอกเสียง ด้วยการเชียร์ตนเอง หรือโจมตีคู่แข่ง
แต่ได้ผลจริงหรือ เพราะมีการตีความกฎหมายต่างกัน นักกฎหมายส่วนใหญ่ตีความว่านักการเมืองที่ถือหุ้นสื่อแค่หุ้นเดียว ก็ถือเป็นความผิด ต้องพ้นจาก สส.หรือรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ทำให้มีอำนาจอิทธิพลครอบงำสื่อ หรือใช้สื่อเป็นเครื่องมือการเมือง เป็นการตีความกฎหมายตามตัวอักษร
นักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่ง ยืนยันต้องตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เหตุที่ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้สื่อเป็นกระบอกเสียง จะต้องเป็นเจ้าของ หรือเป็นหุ้นใหญ่เท่านั้น จึงจะครอบงำสื่อได้ การคงบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อาจใช้กลั่นแกล้งกันได้
...
ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2563 มี สส.ถูกร้องในข้อหา เป็นเจ้าของหุ้นสื่อมวลชนถึง 29 ราย เสี่ยงต่อการพ้นจาก สส. ทั้งที่ไม่ได้ถือหุ้นจริง แต่มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่จดทะเบียน เพื่อทำการค้า รวมทั้งระบุว่าจะทำกิจการสื่อด้วย แต่ไม่ได้ทำจริง เพียงแต่จดทะเบียนเผื่อไว้ กลายเป็น “สื่อทิพย์” ที่ทำให้หลุด สส.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม