"พิธา" สส.ก้าวไกล ส่งสัญลักษณ์ "มินิฮาร์ต" อภิปรายฯ กลางสภาฯ เสนอ 5 ข้อ วางกอบทำงาน กมธ.วิสามัญ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ลั่น "ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน" 

วันที่ 26 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ และญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ ให้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ขณะที่ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานที่ประชุม โดยก่อนที่จะอภิปรายเข้าเรื่องขยะ นายพิธา กล่าวว่า "ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาฯ แห่งนี้ แม้กระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่ยังมีบัตรสำรองให้มีโอกาสได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ผมได้ลงไปในช่วงที่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างนี้เกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว"

...

นายพิธา กล่าวว่า สถานที่ 2 สถานที่ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่มีโอกาสลงไปในระหว่างถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ บ่อขยะ ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และ 2. บ่อขยะเทศบาลนครภูเก็ต 2 ที่นี้ให้ความรู้กับตนมาก เพราะมีความแตกต่างกันมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะได้ไม่หมด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ความอันตรายในการเสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดขึ้น แต่ในเรื่องของงบประมาณที่อยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่ง มี 1.6 พันล้านบาท ซึ่งจีดีพีเฉพาะสมุทรปราการ 6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหนึ่งจังหวัด ส่วน จ.ภูเก็ต ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการขยะได้ และต้องการให้นักท่องเที่ยวมาในภูเก็ตเยอะๆ หลังโควิด แต่ขยะที่เห็นอยู่สักวันหนึ่งก็จะลงไปในทะเล แล้วก็จะเรียกภูเก็ตว่า สรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ สถานการณ์ขยะที่มีต่อภูเก็ต 800 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน จีดีพีภูเก็ตอยู่ที่ 2 แสนกว่าล้านบาท งบประมาณของ อปท.ทั้ง 10 กว่าแห่งรวมกัน 600 กว่าล้านบาท คิดเป็น 0.31 เปอร์เซ็นต์

"นี่คือภาพจุลภาค ที่เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้ง กมธ.วิสามัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร เพราะการจัดการขยะจะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ถ้าต้นทางไม่สามารถจัดการขยะได้ ก็เลิกคิด กลางทาง ปลายทาง เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอ 5 ข้อ ในการวางกรอบการทำงานของ กมธ.วิสามัญ คือ 1. ลดขยะต้นทาง โดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 2. การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร 3. การโอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว 4. เพิ่มเติมงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ เพราะงบจัดการขยะปีนี้มีแค่ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งต้องเพิ่มอีกอย่างน้อยอีก 20 เท่าถึงจะแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยได้ และ 5. การออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสำหรับผู้ที่ได้รับการบำบัดจากผลการกำจัดขยะ ดังนั้นถ้าเราสามารถวางแผนได้แบบนี้ก็จะสามารถลดจำนวนขยะ ป้องกันก่อนปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า วันนี้ ทันทีที่นายพิธา เดินเข้ามาในห้องประชุม สส. นายพิธา ได้ส่งสัญลักษณ์ Mini Heart ให้กับนักศึกษา ที่เดินทางมาศึกษาดูงานที่อาคารรัฐสภา โดยมาติดตามการประชุม สส.ในห้องประชุมด้วย