“แพทองธาร” ร่วมงานเสวนาใหญ่ “Thairath Forum Soft Power Thailand’s Next Weapon” ผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเหมือนเสน่ห์ที่ต่างชาติต้องหลงรัก ดีใจคนเชื่อมั่นรัฐบาลทำได้

วันที่ 24 ม.ค. 67 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานใหญ่ไทยรัฐกรุ๊ป ได้จัดเวทีเสวนาใหญ่ “Thairath Forum Soft Power Thailand’s Next Weapon” ซอฟต์พาวเวอร์แบบไม่ซอฟต์ พูดคุยยุทธศาสตร์กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย ช่วยกันดันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเกิดขึ้นได้จริง 

จากนั้นในช่วงที่สองของการเสวนา จะพูดคุยกับ 3 ตัวแทนพลังซอฟต์พาวเวอร์ระดับท็อปของประเทศไทย นำโดย คุณหน่อง-อรุโณชา ผู้จัดละคร, คุณเบนซ์-ธนชาติ Salmon House และคุณปลา-อัจฉรา iBerry 

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่ใช่แค่โปรดักต์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบที่เพื่อไทยทำคือเน้นไปทางเศรษฐกิจ เวลาที่มีการจัดแรงกิ้งนั้น ตัวชี้วัดแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน ซึ่งบางที่อาจจะเน้นประชาธิปไตย เน้นเรื่องต่างๆ ซึ่งหากเน้นวัฒนธรรม เกาหลีใต้อาจจะอยู่ในนั้น ซึ่งของเราจะเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ขาดไม่ได้คือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้วัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกให้เขาได้เข้าใจ

“ซอฟต์พาวเวอร์เหมือนเสน่ห์ ถ้าคิดว่าเป็นผู้หญิงจะมีเสน่ห์อย่างไร ประเทศไทยมีเสน่ห์อย่างไรที่จะทำให้หนุ่มๆ มาหลงรัก นั่นก็คือชาวต่างชาติ หรือคนทั่วไปมาหลงรักอย่างไร เรามีวิธีพรีเซนต์อย่างไร เพราะฉะนั้นเสน่ห์เหล่านี้จึงไม่ใช่โปรดักต์ แต่เป็นพลังอำนาจที่ทำให้คนมาหลงรัก ซึ่งเสน่ห์ของไทยมีเยอะแยะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ที่โด่งดังทั่วโลกโดยไม่ต้องอธิบาย ที่คนเห็นแล้วอยากทำตาม” น.ส.แพทองธาร กล่าว

...

ถามว่า มาสนใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไร ก่อนจะเลือกตั้ง ตนคิดอยู่แล้วว่าอยากจะหาโปรเจกต์ที่ทำให้คนไทยหลุดออกจากกรอบหาอาชีพ หรือได้รับค่าตอบแทนแบบแรงงาน เพราะตำแหน่งงานอาจจะเต็ม จะทำอย่างไรให้คนในครอบครัวเดียวกันหาอาชีพอื่นได้ นอกเหนือจากทำนา ทำสวน คือทำให้มีสกิลด้านอื่นๆ มากขึ้น

เราจึงไปดูอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าอะไรบ้างที่จะสามารถผลักดันไปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำภาพยนตร์ เชฟร้านอาหาร เช่น ร้านสตรีทฟู้ด โอมากาเสะ เราคุยมาหลากหลายที่ ซึ่งทำให้เราได้ความรู้จากตรงนี้มา แต่ปัญหาหลักๆ ส่วนใหญ่คือความยุ่งยากของการทำกิจกรรม เอกสารต่างๆ กับภาครัฐ

ซึ่งตอนนี้จริงๆ แล้วเราเริ่มทำ one stop service ปกติแล้วเวลาจะเปิดร้านอาหาร ทำเรื่องขอใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ จะต้องผ่านหน่วยงานมากถึง 40 หน่วยงานเพื่อขออนุญาต ซึ่งเราจะทำ one stop service เป็นแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาในกรุงเทพฯ ก่อน เพื่อดูว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างและปรับปรุงระบบ โดยจะเริ่มทำในเรื่องของภาพยนตร์ก่อน รวมไปถึงเรื่องการแก้กฎกระทรวงต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งหลายกฎมีมาแล้วประมาณ 10-20 ปี ที่เมื่อมาทบทวนแล้วก็ต้องถึงเวลาปรับเปลี่ยน

ทำไมใช้คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์”

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ มีมานาน 20-30 ปีแล้ว เราใช้ตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย โดยใช้ว่า “เศรฐกิจสร้างสรรค์” ดังนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ ถือว่าเป็นคำที่ไม่ใหม่ไม่เก่า แต่พอครั้งเมื่อการเมืองเปลี่ยน นโยบายนั้นๆ ก็จะดรอปไปกับรัฐบาลนั้นๆ ด้วย เราจึงอยากสร้างเป็น พ.ร.บ.ไปเลย ให้ประโยชน์ตกอยู่ในมือประชาชน เหมือนกับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเราได้เรียนรู้มาว่าจะต้องพัฒนาให้จบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และคิดว่า พ.ร.บ.นี้จะเสร็จประมาณช่วงเมษายน 

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะประเทศไทยซอฟต์พาวเวอร์มีเยอะมากอยู่แล้ว แต่ที่รัฐบาลเข้ามาคือเป็นการพัฒนาตัวตน พัฒนาอุตสาหกรรมให้มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น อย่างเช่น เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราจะจัดตลอดเดือน เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวมาอยู่ยาวนานขึ้น 

สำหรับเรื่องงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ ที่ใช้เงินประมาณ 5 พันกว่าล้าน ในส่วนนี้เรามี 11 อุตสาหกรรมที่จะนำงบแบ่งไปในแต่ละอุตสาหกรรม อย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหาร ที่จะใช้มากหน่อย ซึ่งเราจะทำเป็นหลักสูตรเพื่อให้คนเรียนฟรี หรือเรียนผ่านออนไลน์ มีใบรับรอง สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ 

ถามว่า ในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ มองว่าประเทศใดเป็นคู่แข่งของเรา สำหรับเรื่องนี้ตนคิดว่าทุกประเทศทำซอฟต์พาวเวอร์กันหมด และไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่ง แต่คิดว่าเราเป็นเพื่อน เป็นมิตรกัน เพราะเราต้องพึ่งพิงช่วยกันผลักดัน และคิดว่าไทยของเราเองก็มีเสน่ห์ในแบบของเรา ทุกคนสามารถสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในแบบตัวเอง

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า หลังจากได้เข้ามาทำงานเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ก็รู้สึกชอบมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาในอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเข้าถึง อย่างเช่น อุตสาหกรรมเกม ที่ได้รู้ว่าไม่ได้มีแค่การเล่นเกม ออกแบบเกม แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราต้องเรียนรู้ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มเปิดงานเสวนาใหญ่ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ได้มีการจัดทำ “ไทยรัฐโพล” สำรวจความเห็นคนอ่านที่มีต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ระหว่างวันที่ 15-22 มกราคม 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,595 ราย จากคำถาม “คุณคิดว่าแผนงานของโครงการซอฟต์พาวเวอร์จะช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่” คนส่วนใหญ่ตอบว่า “ทำได้” คิดเป็น 47% (750 ราย) ตามมาด้วย “ไม่แน่ใจ” 26.6% (424 ราย) และตอบว่า “ทำไม่ได้” 26.4% (421 ราย)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนดีใจที่คนเชื่อมั่นว่าทำได้ หากรวมกับ “ไม่แน่ใจ” ก็จะได้ประมาณ 70% ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย เพราะตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน ตอนนี้ได้ 47% ก็ดีใจแล้ว.