ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้กลับเข้าสภา ทำหน้าที่ สส. หลังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยมาตั้งแต่ 19 ก.ค. 66 พร้อมชี้ ไอทีวีไม่ใช่สื่อแล้ว

จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) 

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ต่อมาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชี ระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าได้ไต่สวนพยานรวม 3 ปาก คือ นายแสวง บุญมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายคิมห์ สิริทวีชัย โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัย ในวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.

...

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.56 น. วันที่ 24 มกราคม 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัย โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญสรุปได้ว่า นายพิธา มีชื่ออยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งยังเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ โดยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี 26 เมษายน 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยต่อมา 25 พฤษภาคม 2566 โอนหุ้นให้ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ (น้องชาย) แต่ยังถือว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้น เพราะเป็นทั้งผู้ตัดการมรดกและเป็นทายาท

ขณะที่ประเด็นว่าไอทีวีประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ นายพิธา โต้แย้งว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ มีรายได้จากการขายตราสารทุนและตราสารหนี้ เงินลงทุน และ กสทช. แจ้งว่า ไอทีวีไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ได้รับความถี่ในการประกอบกิจการสื่อ 

ทางด้านแต่งบการเงิน ภ.ง.ด.50 2560-2565 ปรากฏข้อมูลว่าไอทีวีหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญา ทำให้สิทธิในคลื่นความถี่กลับมาเป็นของ สปน. จึงไม่สามารถดำเนินกิจการสื่อได้อีกต่อไป โดยขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาศาลปกครองสูงสุด และหากท้ายที่สุดไอทีวีชนะคดี ก็มิได้มีผลให้ไอทีวีได้รับคืนคลื่นความถี่มาทำรายการได้อีก สรุปได้ว่า ไอทีวีไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 และที่คงสถานะเพื่อการดำเนิอนคดีที่ค้างอยู่ ไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อมวลชน ตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา และไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชน 

ดังนั้น ณ วันที่ นายพิธา เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน การถือหุ้นของนายพิธา จึงไม่เป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และจบการอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.36 น

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวก่อนอ่านคำวินิจฉัยว่า ที่ผ่านมาผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลาในการชี้แจงถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ซึ่งคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 60 วันที่แล้ว และย้ำว่าไม่ใช่ศาลล่าช้า ก่อนจะติง นายพิธา ว่า การไปแสดงความคิดเห็นทางคดีในสื่อต่างๆ นั้นเป็นการไม่สมควรและไม่เหมาะสม เพราะอาจจะเป็นการชี้นำ เป็นการกดดันศาล จึงขอเตือนไว้ด้วย.