“สัญญาว่าจะให้” ยังเป็นประเด็นการเมืองที่โต้เถียงกันต่อไป มีรายงานข่าวว่า กกต.มีคำวินิจฉัยให้ส่งศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของนายสมชาย ภิญโญ ผู้สมัคร สส.นครราชสีมา เขต 6 พรรคภูมิใจไทย ฐานปราศรัยหาเสียงสัญญา จะพาชาวบ้านเที่ยวเมืองกาญจน์เมื่อเป็น สส.

กกต.ถือว่านายสมชายฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้ง ม.73 (1) ที่ห้ามผู้สมัคร (1) สัญญาว่าจะให้ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้ตนและให้ดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตการเลือกตั้ง ด้วย ข่าวนี้ต้องถือว่าน่าแปลกใจ เพราะเคยมีข่าวว่า กกต.ถือว่าโครงการแจกเงิน หมื่นหาเสียงของพรรคเพื่อไทยไม่ผิดกฎหมาย

มีรายงานข่าวจาก ป.ป.ช.เปิด เผยว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคต่างๆที่ผ่านมา มีการสัญญาจะแจกเงินคล้ายกับพรรคเพื่อไทยถึง 756 โครงการเป็นเงินถึง 70 ล้านล้านบาท อาจเข้าข่ายเป็น “สัญญาจะให้” เลขาธิการ กกต.บอกว่า ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นการหลอกลวงหรือไม่

ถ้า กกต.มองว่ากรณีผู้สมัคร สส.นครราชสีมา สัญญาว่าจะพา อสม.หรือประชาชนไปล่องแพเมืองกาญจน์ร้องเพลง เป็น “สัญญาว่าจะให้” เป็นความผิดทางอาญา แต่ไม่ถือว่าโครงการแจกเงินให้ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 56 ล้านคนทั้งประเทศ คนละ 1 หมื่นบาท ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องถือเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง

ยังมีคำสัญญาของพรรคอื่นๆอีกถึง 756 โครงการ สัญญาจะแจกเงินถึง 70 ล้านล้านบาท จะต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเคร่งครัด กฎหมายมุ่งทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงห้ามซื้อเสียงหรือให้ผลประโยชน์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ห้ามแม้แต่ “สัญญาว่าจะให้”

เปรียบเทียบคำสัญญาที่จะแจกเงินหมื่นให้ประชาชนถึง 56 ล้านคน (ต่อมาลดลงเหลือ 50 ล้านคน) และจะต้องกู้เงินมาแจกถึง 5 แสนล้านบาท ย่อมสั่นสะเทือนผู้มีสิทธิทั่วประเทศและทุกเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขต

...

เปรียบเทียบกับคำสัญญาบนเวทีปราศรัย จะนำพาชาวบ้านเที่ยวกาญจนบุรี เมื่อได้เป็น สส. และพูดถึง “งบดูงาน” แสดงว่าเป็นเงินรัฐ เช่นเดียวกับเงินดิจิทัลหรือไม่ สองรายการนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย รายการไหนจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมมากที่สุด และทำลายการเมืองมากที่สุด.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม