อดีตนายกฯ “ชวน” กล่าวระหว่างปาฐกถา ที่ธรรมศาสตร์ ทำหนังสือถึงแพทยสภา แนะ แพทย์ อย่าไปเซ็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่งั้นวันหน้าพอความจริงปรากฏ ต้องมาติดคุกเพราะเกรงใจนาย ยัน ยอมขัดใจนาย ดีกว่าติดคุกในอนาคต
วันที่ 22 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 ม.ค. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Looking back & forward : เหลียวหลังแลหน้า ธรรมศาสตร์” ซึ่งจัดโดยกองทุนทำบุญวันเกิดธรรมศาสตร์ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนหนึ่งว่า ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 40 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งตอนนั้นตนเป็นฝ่ายค้าน และหากจะพูดถึงเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาทแล้ว วันนั้นช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 ถือว่าวิกฤติจริงๆ เข้าหลักนิยามของสหประชาชาติ เข้าหลักของวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้ไปชี้แจงในการประชุมที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงเดือน พ.ย. ปี 40 สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ซึ่งวันนั้นอาจเป็นความผิดพลาดที่เราไปสู้ เงินบาทอ่อนจนเงินเราเกือบหมด และต่อมาเกิดโครงการเงินกู้มิยาซาวา ซึ่งทุกคนต้องทำงานถึงจะได้เงิน และเป็นโครงการที่ช่วยวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้น
นายชวน ยังกล่าวด้วยว่า ต่อกรณีที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลตำรวจ ตนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2566 ว่า ควรจะปกป้อง หรือป้องกันแพทย์ไว้ก่อน โดยแนะนำแพทย์เราว่าอย่าไปเซ็นหรือรับรองอะไรที่มันไม่ถูก วันหนึ่งเรื่องนี้จะปรากฏขึ้นมา ปิดไม่มิด ที่ตนพูดเรื่องนี้ เพราะตนเคยได้คุยกับอาจารย์ในคณะแพทย์บางคน เขาบอกกับลูกศิษย์ที่โรงพยาบาลนั้นไว้ว่า อย่าไปเซ็นหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง จึงเห็นว่าน่าจะให้แพทยสภารับรู้ไว้ ตนขอยกตัวอย่าง มีรุ่นน้องตน 2 คน จบธรรมศาสตร์ เป็นนายตำรวจ ยศ พล.ต.อ. กับ พ.ต.อ. เป็นนักกฎหมายทั้งคู่ แต่เพราะความเกรงใจ จนเป็นเหตุให้ต้องติดคุก 2 ปี ซึ่งน่าเสียดายมาก มาเสียตอนปลายชีวิต เพราะถึงเวลาไปทำอะไรที่ไม่สมควรก็โดน มาตรา 157 วันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องสอนในสิ่งที่ถูกต้อง
...
“ไม่ว่าอะไรก็ตาม ความจริงต้องเป็นความจริงวันยังค่ำ วันนี้ไม่ปรากฏ วันหน้าต้องปรากฏ ผมรู้ว่าหลายคนไม่อยากทำผิด แต่ต้องติดคุกก็เพราะเกรงใจนาย ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องสอนลูกศิษย์ให้รักษาความถูกต้องไว้ ผมใช้คำว่ายอมขัดใจนาย ดีกว่าติดคุกในอนาคต เพราะผมเห็นอดีตปลัดกระทรวงคลังคนหนึ่งถูกไล่ออก เพราะไม่เอาเด็กของนักการเมืองขึ้นมาเป็นปลัด นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ถือว่าน่าเสียดาย รวมถึงศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ของเราด้วย ที่ไปทำในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ใช่ไม่รู้แต่เกิดจากความเกรงใจ วันนี้ความจริงไม่ปรากฏ แต่วันหนึ่งในอนาคต ความจริงก็จะปรากฏหากมีการร้องเรียนขึ้นมา” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมองไปข้างหน้า ตนอยากเห็นบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผลิตมานั้นมีความรับผิดชอบ ยึดมั่นประชาธิปไตย ยึดหลักนิติธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ประชาธิปไตยของประเทศไทย ถ้าเราเลือกผู้แทนขึ้นมาโดยการใช้เงินแล้ว มีหรือจะไม่ใช้เงินต่อ