“เตือนเสี่ยงผิดกฎหมาย ขอเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวน”
ระดับผู้ที่ผ่านการกำกับนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลเพื่อไทย (พท.) มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ระวังเข็นนโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ต
โดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ลูกหม้อแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สมัยรัฐบาล พท. มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ออกโรงคนแรกๆไม่เห็นด้วย หลังพรรค พท.ออกแคมเปญนี้จนสะเทือนวงการแข่งขันเลือกตั้ง
เพราะเอาพลังทางการคลัง ภาษีที่เป็นเงินของประชาชน ไปแจกในลักษณะเหวี่ยงแห เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภค แจกมากไป เพิ่มภาระการคลัง และหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็น ไม่เน้นเฉพาะคนเปราะบาง นโยบายการคลังควรเน้นเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
จุดขายอีกประการของนโยบายนี้ เน้นพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล นับเป็นก้าวแรกสำคัญทำให้ประเทศก้าวกระโดดขึ้นบันไดทีเดียว 6-7 ชั้น
เปิดประตูสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แบบนี้สังคมยอมรับได้
พอดูแนวทางเดิมที่พรรค พท.จะใช้คล้ายเป็นสกุลเงินแบบหนึ่ง “คริปโตเคอร์เรนซี” เข้าข่ายขัด พ.ร.บ.เงินตรา ทางทีมงานพรรค พท.ก็หาทางป้องกันความเสี่ยงใช้แอปเป๋าตัง เป็นเครื่องมือหลักพาประเทศก้าวกระโดด ที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีแบบไฟแลบ ความจริงมันไม่ใช่ เพราะยังใช้แอปเป๋าตังแบบเดิม
“ทีมการเมือง” ถามว่า คณะกรรมการเพื่อศึกษาการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีนางสุภา ปิยะจิตติ อดีต ป.ป.ช. เป็นประธาน เตือนเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
...
พร้อมมีข้อเสนอพัฒนาบล็อกเชน เป็นประเด็นที่ท้าทาย ประเทศไทยทำได้ทันหรือไม่ ทันตามระยะเวลาที่กำหนดเริ่มใช้ดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่
ขณะที่มีข้อเสนอจากบรรดาสตาร์ตอัพให้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่ประกอบด้วยเครื่องมือสุดล้ำแห่งยุคที่เรียกว่า Internet of Asset-Public Blockchain ดาต้าไหลเวียนไม่ผ่านตัวกลาง ปลอดภัย รวดเร็ว ประหยัด ทุกองค์กรของรัฐ-เอกชนเสียบปลั๊กใช้ได้ทันที
แต่ดูเหมือนบล็อกเชนเครื่องมือสำคัญสำหรับ “ดิจิทัลวอเล็ต” และเครื่องมือสำคัญสำหรับ “บาทดิจิทัล” ของแบงก์ชาติด้วย แต่ทำแซนด์บ็อกซ์ยังไม่ไหลลื่น พรรค พท.จึงมีนโยบายสนับสนุนดิจิทัลบาท จุดนี้เป็นปมหนึ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ
นายธีระชัย บอกว่า แบงก์ชาติพัฒนาโครงการอินทนนท์ที่เป็นจุดเริ่มต้นสกุล “ดิจิทัลบาท” และขยายบทบาทเชื่อมเหมือนเป็นร่มตัวกลางครอบสกุลดิจิทัลที่จะออกมา
เพื่อพัฒนาให้คริปโตเคอร์เรนซีของประเทศไทย เพราะเรายังไม่มีสเตเบิลคอยน์ที่เป็นตัวเชื่อม หากทำให้เกิดได้ บล็อกเชนของไทยก็ไปอีกระดับหนึ่ง
ขณะนี้แบงก์ชาติมีร่มอยู่แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สนใจที่ไปคุยกับแบงก์ชาติ แม้พรรค พท.มีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ไม่สนใจเครื่องมือที่แบงก์ชาติมีอยู่ เพราะต้องการพัฒนาเครื่องมือใหม่ให้เอกชนทำ เหมือนเดินคนละถนน
“รัฐบาล และ รมว.คลังไม่สนใจไปคุย เชื่อว่าแบงก์ชาติไม่พยายามต่อต้าน แต่ที่จะยอมให้เอกชนออกร่มมาครอบ เข้าข่ายเป็นเงินตรา ก็ต้องขออนุญาตแบงก์ชาติไทยไม่ควรให้เอกชนเป็นคนออก จะมีปัญหาด้านความมั่นคงตามมา เมื่อพูดมีร่ม ทั้งร่มของแบงก์ชาติหรือร่มเอกชน เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ร่มส่วนร่ม แจกเงินส่วนแจกเงิน คนละประเด็น กรณีในสหรัฐฯ ยุโรป สเตเบิลคอยน์ที่ออกมาเขาก็ไม่ได้แจกเงิน”
“วิกฤติเศรษฐกิจ” นิยามต่างกัน ทำให้ รมว.คลังกับผู้ว่าการแบงก์ชาติปะทะกันเป็นระยะกลายเป็นรอยร้าวของฝ่ายที่คุมนโยบายการคลัง และฝ่ายที่คุมนโยบายการเงิน นายธีระชัย บอกว่า ข้อขัดแย้งเท่าที่ดู เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ได้ไม่คุมเสีย
อาทิ กลายเป็นไปสร้างหนี้ เพื่อมาแจก เป็นภาระงบประมาณ แจกแบบเหวี่ยงแหเกินความจำเป็น สร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม ทั้งที่ไม่จำเป็น ถ้ารัฐบาลมีเงินอยู่ในเก๊ะ มีรายได้แต่ละปีเข้ามาเยอะ แบบนี้แจกไม่เป็นอะไร
วิกฤติเศรษฐกิจ มีนิยามอย่างไร ถ้ามีวิกฤติจริงต้องออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. นายธีระชัย บอกว่า ตามหลักระบอบประชาธิปไตยต้องทำผ่าน “พ.ร.บ.งบประมาณ” รัฐสภาอนุมัติ เพื่อความโปร่งใส อนุมัติไปแล้วยังมีกระบวนการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
แต่รัฐบาลนึกอยากกู้ก็กู้ หลุดออกจากกระบวนการงบประมาณไม่ได้ เกิดขึ้นง่ายไม่ได้ ถ้าทำได้ง่ายต่อไปต้องเลิกกระบวนการงบประมาณ ถึงได้ออกกฎหมายที่ใช้กระบวนการพิเศษ ต้องเกิดเหตุการณ์ 2 อย่าง
เกิดวิกฤติใหญ่ เร่งด่วนถึงขั้นออกเป็นพ.ร.ก.
เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ โควิดระบาด หากไม่เกิดสภาพวิกฤติแบบนั้น ยังเปิดช่องให้กู้ได้โดยออกเป็น พ.ร.บ. ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มข้น
วิกฤติประเทศ-แก้ปัญหาต่อเนื่อง-ตั้งงบฯไม่ทัน
“ที่ตั้งงบประมาณไม่ทัน มันก็ลำบากแล้ว เพราะรัฐบาลรู้ตัว แล้วยังเสนองบประมาณ และไม่เอาไปใส่เข้าไปในงบประมาณปี 67 ตั้งได้แต่ไม่ตั้ง
คำว่าวิกฤติยังมีข้อถกเถียงจะยอมรับสภาพไหนถึงวิกฤติ วิกฤติต้มยำกุ้ง เจ๊งหมดแบบนี้ยอมรับได้ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็เข้าใจได้
แต่ขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติแบบนั้น ตรงนี้เป็นข้อสังเกตของ ป.ป.ช.ชุดเล็กถือว่าออกมาเตือน อาจมีคนท้าทายฟ้องศาล อาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญ
ว่าประเทศยังไม่วิกฤติ ขอย้ำเวลาสู้ในชั้นศาล ต้องมีหลักถกเถียงว่าอันนี้วิกฤติหรือไม่วิกฤติแนวทางหนึ่งที่นิยมอ้างอิง คือธนาคารโลก มีทั้งหมด 7 ตัว แต่ดูแล้วไม่เข้าสักตัว รัฐบาลก็เหนื่อย”
“วิกฤติเศรษฐกิจ” ตามหลักของธนาคารโลก
1.ต้องเกิดวิกฤติต่อสถาบันการเงิน
2.ทุนสำรองต่ำ
3.เงินเฟ้อเกิน 40% ต่อเดือน
4.สกุลเงินอ่อนค่ารุนแรง
5.หนี้สาธารณะเพิ่มมาก และเร็วเกินไป
6.ขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง เกิน 30%
และ 7.จีดีพีหดตัวหรือติดลบ 2 ไตรมาส
กำลังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลผ่านด่านรัฐสภา แต่ไม่ผ่านด่านรัฐธรรมนูญ นายธีระชัย บอกว่า ไม่ชำนาญพอที่ไปแนะนำรัฐบาลแบบนั้น ในฐานะที่ผมเป็นประธานวิชาการพรรคพลังประชารัฐ เอาใจช่วยรัฐบาล
ฉะนั้นการนำเสนอต่อ ครม. ต้องทำให้ชัดเจน ปลอดภัยในแง่กฎหมาย เพื่อคุ้มครองคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
ไม่เช่นนั้นพรรคร่วมรัฐบาลคงยังมีข้อกังวลใจ
หากรัฐบาลย้ำว่าวิกฤติต้องหักล้าง 7 ข้อนี้ให้ได้
มีข้อเสนออย่างไรต่อรัฐบาลหลัง ป.ป.ช.ชุดเล็กส่งสัญญาณเตือนแบบนี้ นายธีระชัย บอกว่า สมมติเป็นเอกสารจริง ป.ป.ช.ชุดใหญ่คงคลอดเนื้อหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
เห็นชัดเจนมี 8 เสี่ยง คือ 1.ทุจริตเชิงนโยบาย 2.ผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง 3.เอื้อทุนใหญ่ 4.ไม่คุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ 5.ตีความวิกฤติเศรษฐกิจ 6. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 7.แจกเหวี่ยงแห และ 8.ตัวทวีคูณไม่เป็นไปตามคาด
และมีข้อเสนอ คือ 1.ให้กลุ่มเปราะบาง 2.ระวังหาเสียงต่างจากทำจริง 3.เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ 4.ได้ไม่คุ้มเสีย สร้างหนี้เพิ่ม 5 แสนล้านบาท 5.พิจารณากฎหมายให้รอบคอบ 6.ควรมีมาตรการป้องกันทุจริต 7.ควรใช้เป๋าตัง
ครม.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม และนิติรัฐ เพื่อประโยชน์ของประเทศ และความผาสุกโดยรวมของประชาชน
ฉะนั้นรัฐบาลควรแจกเฉพาะคนเปราะบาง และเปลี่ยนจากการกู้มาใช้งบประมาณปกติ
แต่ถ้ารัฐบาลเดินหน้ากู้ ระวังติดคุก
เพื่อไทยเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม