อนุทิน เชิญ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ตำรวจ เตรียมทำ MOU 26 ม.ค.นี้ ป้องกันทุจริตสอบข้าราชท้องถิ่นกว่า 6,100 อัตรา พร้อมสั่งสอบปมเรียกรับสินบน 7 แสน อธิบดี สถ. แจงเหตุเลือก ม.บูรพา แทน มทร.ธัญบุรี

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 มกราคม 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมหารือกำหนดแนวทางป้องกันต่อต้านและปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นปี 2567 ที่กระทรวงมหาดไทย ถึงกรณีว่าจ้างมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้จัดสอบข้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่นปี 2567 ว่า เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเข้ามาตามขั้นตอนคัดเลือกเพื่อมาจัดสอบผู้ที่ต้องการเป็นข้าราชการท้องถิ่นมากถึง 500,000 คน ไม่มีทางที่กระทรวงมหาดไทยจะจัดสอบเองได้ และไม่มีสถานที่ในการจัดสอบที่จะทำให้เอื้อต่อการทุจริตใดๆ และสามารถควบคุมกำกับดูแลได้ แต่การที่ให้มหาวิทยาลัยมาจัดสอบ เพราะมีความเชี่ยวชาญและสามารถจัดสอบได้ตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวถามต่อ ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยบูรพา มีเรื่องการร้องเรียนเรื่องการจัดสอบที่ไม่โปร่งใส ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ตนไม่ทราบตรงนั้น เพราะเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมระหว่างรัฐกับรัฐ ถ้าทุจริตใครจะได้ประโยชน์ สื่ออย่าเพิ่งไปตั้งคำถามที่จะเกิดเรื่องทุจริตได้ ฟังแล้วไม่สมเหตุสมผล เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมีการเรียกเก็บเงิน 700,000 บาท เพื่อสอบเข้าเป็นข้าราชการท้องถิ่น นายอนุทิน เผยว่ามีการมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานตรวจสอบเรื่องนี้ โดยตรวจสอบว่าการเรียก 700,000 บาท เพื่อมาเป็นข้าราชการเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ข้าราชการจำนวน 6,000 คน จ่ายคนละ 700,000 บาท ก็จะเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท หากผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยไม่รู้เรื่องเลย เราก็คงเป็นกระทรวงไม่ได้แล้ว

...

“ขอยืนยัน คนในกระทรวงมหาดไทยทุกระดับคงไม่มีใครเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้วกับเรื่องเหล่านี้แน่นอน แต่ในเมื่อมีมูลและมีควันเราก็ต้องไปตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นการแอบอ้างแบบคอลเซ็นเตอร์ มีตัวการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแต่ไปแอบอ้าง เช่น ความสัมพันธ์อะไรต่างๆ และหลอกลวงกันไป”

สำหรับการประชุมวันนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตร่วม ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ป.ป.ป.) และถ้าเจอคนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องขึ้นบัญชีดำให้หมด ดำเนินคดีอย่างเข้มงวด หากมีการพบของกลางที่จ่ายเป็นเงินต้องยึดเป็นของแผ่นดินให้หมด โดยในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะมีการลงนาม MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ กระทรวงมหาดไทยไม่มีแนวทางหรือความคิดให้เกิดการทุจริตในการสอบข้าราชการท้องถิ่น 

ส่วนคำถามว่าก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชนะการประกวดราคาในการจัดการสอบ แต่ทำไมเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องสอบถามอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ตนรับทราบมีกระแสข่าวเรื่องจ่ายเงิน 700,000 บาท ตนก็เต้นเป็นเจ้าเข้า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อแก้ปัญหา เพื่อแสดงให้เห็นเราต้องต่อต้านการกระทำทุจริตเช่นนี้

ทางด้าน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ชี้แจงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัยในดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยบูรพา ว่า เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการประมูลกันแล้ว และจากนั้นก็มีการยื่นอุทธรณ์ไปที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมบัญชีกลางให้มาดูในเรื่องของการชั่งน้ำหนักของคู่สัญญา โดยมหาวิทยาลัยบูรพา มีน้ำหนักและประสบการณ์ในการดำเนินการจัดสอบแข่งขันมากกว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงทำให้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้ชนะการประกวด 

เมื่อถามว่าได้คำนึงถึงประวัติในอดีตหลังมหาวิทยาลัยบูรพาเคยมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตหรือไม่ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า ในเรื่องนี้คณะกรรมการได้ดูอยู่ โดยจะพิจารณาและเสนอขึ้นมา ซึ่งในน้ำหนักจะมีอยู่ประมาณ 4-5 ส่วน มีงบประมาณที่ลงไว้อยู่ที่ประมาณ 85 ล้านบาท มีผู้สมัครสอบประมาณ 500,000 คน และมีตำแหน่งว่างอยู่ที่กว่า 6,100 อัตรา.