“รัดเกล้า” เผย กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดแคลน ย้ำ รัฐบาลมีแผนรองรับ ปี 2567 สำรองน้ำมันดิบเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
วันที่ 17 มกราคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน มีการประชุม หารือ ติดตามสถานการณ์การขาดแคลนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ ร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่ง และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ของโรงกลั่นไทยออยล์ เป็นระยะเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม 2567 โดยพบว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JET A1) 110 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 240 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 15 ล้านกิโลกรัม
จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และผู้ค้าน้ำมันสามารถจัดหาน้ำมันกลุ่มเบนซิน น้ำมันอากาศยาน (JET A1) และ LPG ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศโดยไม่มีผลกระทบ โดยสำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว การจัดหาค่อนข้างตึงตัวในช่วงแรก กรมธุรกิจพลังงานจึงได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันชะลอการส่งออกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วออกไปก่อน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ รวมถึงเร่งนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ออกมาจำหน่ายได้ในปริมาณไม่เกินกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณสำรองตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องเก็บสำรอง ส่งผลให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงาน จะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว
...
นางรัดเกล้า กล่าวต่อไป มาตรการดังกล่าวไม่มีผลใดต่อๆ การที่รัฐบาลประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน เริ่ม 20 มกราคม-19 เมษายน 2567 แต่อย่างใด ขอให้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีพลังงานสำรองเพียงพอ ซึ่งกระทรวงพลังงานงานปี 2567 ยึดมั่นในเป้าหมายพลังงานเพื่อความมั่นคง โดยมีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566-2580 หรือแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานในสาขา โดยมีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม โดยเป้าหมายปี 2567 คือมีแนวทางเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน และมีแนวลดปล่อยคาร์บอนจากพลังงานพลังงาน ควบคู่กับเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ด้วยการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 เป็น 800 MMscfd นอกจากนั้นยังพร้อมเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกครั้งที่ 25 และมีแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Regional LNG Hub และมีอัตราสำรองน้ำมันดิบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย.