มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก มีคำวินิจฉัยให้ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ 3 มี.ค. 66
จากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2566) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยหลังมีการไต่สวนพยาน รวม 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์, นางสาววรางสิริ ระกิติ, นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.
...
ผลวิจิยฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด วันนี้ (17 มกราคม 256) เมื่อเวลา 13.53 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า นายศักดิ์สยาม กับ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงทำธุรกรรม มีการนำเงินไปซื้อ 2 กองทุน แล้วขายชำระค่าหุ้นให้ศักดิ์สยาม โดยหุ้นยังเป็นของ นายศักดิ์สยาม โดยมี นายศุภวัฒน์ ครอบครองและดูแลแทนมาตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใดๆ ซึ่งเป็นการประทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม จึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง
อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่ 3 มีนาคม 2566
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ไปกว่า 1 ชั่วโมง และผู้สื่อข่าวจะรายงานคำพิพากษาฉบับเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อไป.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม “ศักดิ์สยาม” ไม่รอด ต้องพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี