นอกจากได้ความรู้ลุ่มลึกเร้นลับซับซ้อน ของภาษาตามสไตล์ อาจารย์ ปรัชญา ปานเกตุ ในหนังสือ ภาษาสรรวรรณศัพท์ (สถาพรบุ๊คส์ ก.ย. พ.ศ.2566) ผมยังได้รอยยิ้มจากศัพท์สำนวน ที่อาจารย์ตั้งใจ จบแบบเรื่องสั้นหักมุม
เปิดอ่านวันนี้ เจอหัวข้อ พิเศษใส่ไข่ ผมก็รีบอ่าน...
“ไข่” หนึ่ง หมายถึงฟองสัตว์ เช่น ไข่ไก่ “ไข่” หนึ่งหมายถึงตกฟองเช่น “ไก่ไข่”
ภาษาปากหนึ่ง หมายถึงลูกอัณฑะ เช่น เขาโดนเตะไข่จนจุก ภาษาปากหนึ่ง หมายถึงคะแนนศูนย์ เช่น “สอบครั้งนี้กินไข่” ภาษาสแลง หมายถึง มีลูกแล้วไม่รับผิดชอบ เช่น “เขาไปไข่ทิ้งไว้ที่โน่นที่นี่”
ไข่ขาวส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน เรียก “ไข่น้ำค้าง” “น้ำต้อย” ก็ว่า
“ไข่อ่อน” หมายถึงไข่ที่ยังอยู่ในท้อง “ไข่ลม” หมายถึงไข่ที่ไม่มีเชื้อตัวผู้ผสม “ไข่หิน” หมายถึงไข่ที่แข็งคล้ายหิน
“ไข่ตายโคม” หมายถึงไข่ที่ตัวตายระหว่างฟัก “ไข่ข้าว” หมายถึงไข่ที่ฟักไม่เป็นตัว ต้มแล้วแข็งและเหนียวผิดปกติ “ไข่เน่า” หมายถึงไข่ที่เสียและมีกลิ่นเหม็น “ไข่ขาง” หมายถึงไข่แมลงวัน
เรียกไข่เต่าทะเลทุกชนิดว่า “ไข่จะละเม็ด” ไข่ปอกเสียบไว้บนยอดบายศรี เรียก “ไข่ยอดบายศรี” “ไข่ขวัญ” ก็เรียก
ไข่แช่น้ำด่างทำให้ไข่ขาว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ใช้เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง เรียก “ไข่เยี่ยวม้า” “ไข่สำเภา” ก็ว่า
เรียกใบหน้ามีรูปกลมอย่างไข่เป็ดไข่ไก่ว่า “หน้่ารูปไข่” เรียกสีเหลืองอมแดงน้อยๆดังเปลือกไข่ไก่ว่า “สีไข่ไก่” เรียกสี อย่างสีเขียวปนครามอ่อนๆว่า “สีเขียวไข่กา”
...
เรียกสาคูหรือเมล็ดแมงลักในการกินสี่ถ้วยว่า”ไข่กบ” เครื่องหมายวรรคตอนรูปจุดเรียงกันเป็นเส้น เรียก “ไข่ปลา” เม็ดเล็กๆที่อยู่ตามยอดชะอม เรียก “ไข่ชะอม” เม็ดเล็กๆที่อยู่ตามยอดใบของต้นปรง เรียก “ไข่ปรง”
สอนให้เด็กหัดยืน เรียก “ตั้งไข่” มักมีเพลงประกอบการสอนว่า “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่เน้อ”
สำนวน “ไข่ในหิน” หมายถึงของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง สำนวน “จงอางหวงไข่” หมายถึงรักหวงและปกป้อง ไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายได้ง่ายๆ
สำนวน “เกลียดตัวกินไข่” หมายถึงเกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา มักใช้คู่กับ “เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”
สำนวน “ตีไข่แตก” หมายถึงทำแต้มได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่มีแต้มศูนย์มานาน
สำนวน “ใส่ไข่” หรือ “ใส่สีใส่ไข่” หมายถึงพูดขยายความให้เกินความจริง
เมื่อคนสุพรรณพูด “ตอกไข่” เพื่อนก็หัวเราะแล้วว่าต้องเรียก “ต่อยไข่” เมื่อเรียกการเอาหน้าไปจ่อพัดลมว่า “จู้” เพื่อนก็ว่าต้อง “จ่อ”
ผมเรียกรถรุน เพื่อนให้เรียก “รถเข็น” ผมเรียกรถเครื่อง เพื่อนว่ารถ “มอเตอร์ไซค์” ผมเรียก “กะแต๋ง” หรือ “กะแป๋ง” เขาเรียก “ถังน้ำ” อาจารย์ตัดพ้อ สารพัดจะขัดขวางเสรีภาพ
เพื่อนไม่รู้ว่าตัวแทนหมู่บ้านอาจารย์เคยพูดถึง สมเด็จฯพระนางผู้เป็นใหญ่ เจ้าราชอาณาจักรผสมทวีปทวีปบริเตนใหญ่ และทวีปไอร์แลนด์ ว่าควีนส์อลิซาเบธเทเลอร์...รวมราชินีแห่งยุคสมัยไว้ในคำเดียว
หัวข้อเรื่อง “พิเศษใส่ไข่” อาจารย์คงตั้งใจใช้กับลีลาพูดของเพื่อนคนสุพรรณ ซึ่งเคยเป็นที่เลื่องลือฮือฮาระดับชาติมาแล้ว
ส่วนผมจงใจขยักไว้คำหนึ่ง...อ่านหนังสือมาก็นับได้ว่ามากเล่ม เพิ่งเจอคำ “ไข่เหา” วันนี้
อาจารย์อธิบาย ไข่เหา คือชื่อมาตราวัดโบราณ 8 เส้นผม=1 ไข่เหา และ 8 ไข่เหา=1 ตัวเหา
ขอแสดงความนับถือ ความรู้ แสดงภูมิปัญญาของอาจารย์ปรัชญา มาด้วยหัวใจจริงๆ.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม