“บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต” เลื่อนถกไม่มีกำหนด “ภูมิธรรม” แจงรอพิจารณาความเห็น ป.ป.ช.ประกบคู่กฤษฎีกา ย้ำรัฐบาลมีความชอบธรรม เดินหน้าไม่มีล้มเลิก ลั่นต้องมีคำตอบให้ประชาชน “จุลพันธ์” ปัดไม่เคยคุยลดวงเงินเหลือ 3 แสนล้านบาท รับหืดจับเข็น พ.ร.บ.กู้เงินฝ่ากระแสต้าน “สุภา” ชงสรุปรายงานศึกษาแจกเงินดิจิทัลฯเข้า ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซัดเปรี้ยง พท. หาเสียงโดยไม่พร้อม ขายฝันโครงการแบกความเสี่ยง มีแต่ผลเสียมากกว่าดี พบช่องโหว่อื้อเอื้อทุจริตเชิง นโยบาย เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ชี้ชัดตัวเลขยังไม่เข้าขั้นวิกฤติร้ายแรงจนต้องกู้มาหว่าน แนะล็อกเป้าแจกกลุ่มเปราะบาง “นิวัติไชย” เผยยังไม่ส่ง ให้รัฐบาล รอถกวง ป.ป.ช.อีกครั้ง “เสรี” ล่าชื่อ 91 สว.ชงญัตติขย่มรัฐบาล 22 ม.ค. ฝ่ายค้านต่อคิวเปิดเวทีเชือดรัฐบาลหลังถกงบฯปี 67 “เศรษฐา” จีบ บ.ยายักษ์ใหญ่มาตั้งฐานการผลิตในไทย

นโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการดำเนินการได้ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงเอาไว้ได้หรือไม่ ล่าสุดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ออกไป เพราะรอพิจารณาความเห็นทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปในคราวเดียวกัน

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

...

“ภูมิธรรม” เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ม.ค. ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง อยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum(WEF) ที่สมาพันธรัฐสวิส ก่อนการประชุมนายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าเลื่อนไปแล้วช่วงสั้นๆ เพราะเราได้รับหนังสือมาจากกฤษฎีกาแล้ว และได้ทราบว่าจะมีหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เลยคิดว่าจะเอาทั้ง 2 ฉบับเข้าทีเดียวไม่ต้องประชุมหลายครั้ง ได้ยินว่าจะมาเร็วๆนี้ ใน 1-2 อาทิตย์ควรรู้แล้ว นายกฯกลับมาจะได้ประชุมพอดี และอีก 2 วันตนต้องไปสหรัฐอเมริกาและกลับมาใกล้ๆกับวันที่ประชุม ครม.สัญจร หลังจากนั้นทุกอย่างอาจเดินหน้าได้ทุกเรื่องหลัง ครม.สัญจร ทั้งนี้ ความเห็นทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน จะประชาชน การเมือง พรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา จะรับฟังภายใต้เงื่อนไขวัตถุ ประสงค์ของโครงการ

มีคำตอบให้ ปชช.ชอบธรรมที่จะแจก

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องมีคำตอบให้ประชาชน เพราะเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน แต่เนื่องจากเรามาในช่วงที่รัฐบาลอยู่ในสภาพเศรษฐกิจประเทศแย่ และความไม่ต่อเนื่องของงบฯมีอยู่ จึงไม่ใช่เงื่อนไขเหมือนปกติที่เข้ามาแล้วใช้เงินงบฯจัดสรรได้ ต้องรอถึงเดือน พ.ค.ที่งบฯปี 67 จะได้ใช้ วันนี้งบฯปี 67 ใช้แค่เฉพาะงบประจำกับเงินเดือนข้าราชการเป็นหลัก ส่วนงบฯลงทุนยังใช้อะไรไม่ได้ เราอยู่ในสภาพแบบนี้แต่ไม่ได้ให้ข้อจำกัดเหล่านี้มาเป็นข้อสะดุดหยุดลงของโครงการ เมื่อถามว่าถ้า พ.ร.บ.กู้เงินเดินไปไม่ได้ รัฐบาลจะมีแผนสำรองอะไรหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า กรอบใหญ่เราคิดไว้แล้วแต่รอให้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นว่าอะไรเป็นอย่างไร และเราแก้จากความเป็นจริงจะดีกว่า อย่าใช้คำว่าถ้าบ่อยเป็นการจินตนาการคิดไว้แล้วถ้าได้หรือไม่ได้อะไร รอให้เกิดขึ้นจริงๆแล้วค่อยมาถาม เรายืนยันจะเดินหน้าโครงการนี้ ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติ คงเอามาปรับใช้ รัฐบาลต้องยืนยันความเห็นของเราเอง ไม่ใช่นโยบายที่คิดขึ้นมาลอยๆ แต่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันคิดตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ได้แถลงต่อรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ความชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายนี้ถือเป็นเรื่องถูกต้องและชอบธรรมที่สุด เพียงแต่เรารับฟังเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสบายใจให้รอบด้านครบถ้วนมากที่สุด อย่าใช้บางประเด็นหรือบางส่วนมาขวางทุกเรื่องแล้วทำไม่ได้เลย

ดูของจริงไม่ใช่มุ่งเอาชนะการเมือง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า อยากให้ทุกคนดูภาพรวมช่วยกันคิดว่าประเทศชาติจะหลุดพ้นจากวิกฤตินี้อย่างไร การจะบอกว่าวิกฤติหรือไม่วิกฤติ อย่าเอาความชนะคะคานทางการเมืองเป็นที่ตั้ง อยากให้เข้ามาดูความเป็นจริงและช่วยกันคิดให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลมากที่สุด เพราะประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคนและเศรษฐกิจวิกฤติจริงๆใครเป็นคนกำหนดว่าวิกฤติ ถ้าถามฝ่ายค้านบอกว่าไม่วิกฤติ ทั้งที่ก่อนฝ่ายค้านจะเข้ามามองว่าวิกฤติและจะแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องดูความเป็นจริงไม่ใช่พูดตามวาระอารมณ์หรือตามสถานการณ์ต่างๆ เมื่อถามว่ามีแนวโน้มว่าจะยืดระยะเวลาออกไปจากเดิมหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เวลานี้เราวางทุกอย่างเดินตามแผน ตามไทม์ไลน์เดิมทั้งหมด ยังไม่มีอะไรมาหักล้างที่ทำให้เราต้องผิดเพี้ยนไปจากนี้ ส่วนจะยืดหรือไม่ยืดขึ้นอยู่กับความเป็นจริง

หวดอย่าวิจารณ์แบบจินตนาการ

เมื่อถามว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลเข้าสภาเมื่อไหร่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยัง ต้องเคลียร์ทั้งหมดก่อนว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่รัฐบาลตั้งธงที่จะแจกเงินดิจิทัล แต่เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่ใช่อำเภอใจ นี่เป็นนโยบายที่คิดมาอย่างดีเสนอต่อประชาชน ได้รับการยอมรับจากประชาชน เอามาคุยกับพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงต่อรัฐสภาชัดเจน เมื่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาชัดเจน ไม่ทำงวดหน้าอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านกางมาแล้วบอกว่าเรื่องนี้เรื่องนั้นไม่ทำ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เมื่อถามว่าถ้าออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้รัฐบาลจะถอยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวย้ำว่า ไม่มีถ้า ตอนนี้ยังไม่มีเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน ขอความจริงเกิดขึ้นก่อน เมื่อถามว่าความเห็นของ ป.ป.ช.จะเป็นข้อจำกัดรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบต้องถาม ป.ป.ช.ได้ยินว่ามีเราก็รอ ไม่มีปัญหาจะขยับไปอีก 1-2 อาทิตย์ หรือ 1-2 เดือน หากทุกอย่างพร้อมเราเดินได้ทันที ทุกอย่างเตรียมการไว้หมดแล้ว เมื่อถามว่ารัฐบาลจะดันไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย จะมาบอกว่าให้ดันไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เราพูดชัดเจนว่าไม่มีธงเดิน เราดูตามความเป็นจริง อย่าจินตนาการมาก พวกตนยิ่งเหนื่อย

“จุลพันธ์” ยันเดินหน้าตามไทม์ไลน์เดิม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงหนังสือความเห็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของป.ป.ช.ว่า น่าจะอยู่ระหว่างทาง เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนประชุมบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ เพื่อรับฟังอย่างรอบด้าน ยังไม่มี ถ้าเร่งประชุมจะหาว่ารวบรัด รอให้เอกสารมาให้พร้อมก่อน คงอีกไม่นานและนำเอกสารมาส่งให้คณะกรรมการฯดูอย่างละเอียด ทั้งคำตอบของกฤษฎีกา และ ป.ป.ช.จะได้ตอบสนองข้อเรียกร้องได้ถูกต้องและเดินหน้าโครงการต่อไป จะก่อนประชุมครม.สัญจรวันที่ 23 ม.ค.หรือไม่ ต้องรอดูรายละเอียดอีกที การดำเนินโครงการ นาทีนี้ยังตั้งเป้าเดิม ยอมรับเวลากระชั้น แต่เมื่อมีความเห็นกฤษฎีกาและ ป.ป.ช.คณะกรรมการฯต้องรับฟังรอบด้านว่าข้อแนะนำคืออะไร

ไม่เคยคุยลดวงเงินเหลือ 3 แสนล้าน

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะลดขนาดโครงการลง นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยกันเลย เห็นแค่จากข่าวจะลดวงเงิน 5 แสนล้านบาท เหลือ 3 แสนล้านบาท ยืนยันการประชุมดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในเกือบทุกคณะไม่มีการพูดคุยประเด็นนี้ ไม่เคยได้ยินตัวเลข 3 แสนล้านบาท ยังไม่มีแผนสอง ต้องดูตรงนี้ให้จบเรียบร้อยก่อน เมื่อถามว่าหากออกเป็นพ.ร.บ.ไม่ได้จะพิจารณาเป็น พ.ร.ก.แทนหรือไม่ นาย จุลพันธ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขอใช้คำว่ายังไม่พิจารณา แต่การออก พ.ร.ก.เป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่แล้ว ทำได้ตลอดเวลา ขณะที่การประชุมครม.ได้พิจารณากรอบวงเงินงบฯปี 68 ที่ 3.6 ล้านล้านบาท เก็บรายได้ 2.7 กว่าๆ และกู้ที่ชดเชยการขาดดุล อยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท ครม.อนุมัติปรับปรุงปฏิทินงบฯปี 68 เรียบร้อย กรอบเวลาจะเหลื่อมกับเวลาพิจารณางบฯปี 67 จะเร่งดำเนินการให้เสร็จ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่านายกฯเคยระบุว่างบฯปี 68 จะให้ตั้งงบสำรองไว้ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึง กระแสว่าจะเลื่อนโครงการออกไปเพื่อรอใช้งบฯปี 68 ก็ไม่มีการกล่าวถึง ยังยืนยันเดินหน้าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

รับหืดจับเข็น พ.ร.บ.กู้เงินต้องตอบโจทย์

“ยอมรับว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินมีอุปสรรคหลายด้าน ด้วยเงื่อนไขเวลาถือว่าตึงมาก เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน จะถึงเดือน พ.ค.67 ที่จะประกาศใช้ รัฐบาลต้องเดินหน้าและยืนยันตามกรอบเวลาเดิม คือ พ.ค.67 ขั้นตอนใดเร่งได้ จะพยายามเร่งรัด แต่ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสภาจะปิดสมัยประชุมปลายเดือน เม.ย. แต่หากคำตอบชัดเจนแล้ว ขอให้เปิดประชุมวิสามัญได้ หรือไปเข้าประชุมสภาฯอีกครั้งสมัยประชุมเดือน พ.ค.ได้ แม้การเข้าสู่ขั้นตอนสภาฯไม่ง่าย แต่รัฐบาลต้องอธิบายและทุกคำถาม มีคำตอบชัดเจนแน่นอน ส่วนจะวิกฤติหรือไม่วิกฤติเป็นเรื่องสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนมองเรื่องเดียวกัน แต่มีความเห็นไม่เหมือนกัน รัฐบาลต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และต้องตอบได้ทุกโจทย์ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ” รมช.คลังกล่าว

เลขาฯกฤษฎีกาแนะรับฟังเสียง ป.ป.ช.

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ยังไม่เห็นผลการศึกษาของ ป.ป.ช.เลย แต่ใครเสนออะไรมาควรจะฟังประกอบการพิจารณาจะได้รอบคอบแค่นั้นเอง ไม่มีอะไร เมื่อถามว่ามีหน่วยงานใดหรือไม่ที่รัฐบาลต้องฟัง โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจ นายปกรณ์กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงเป็นหลัก คือรับฟังความคิดเห็นเอามาประกอบการตัดสินใจ ยิ่งได้ข้อมูลมาก เอามาประกอบการตัดสินใจได้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น อย่าง ป.ป.ช.ควรจะรับฟัง เพราะเป็นองค์กรอิสระ มีข้อสังเกตมาควรประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อถามถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในปีนี้ นายปกรณ์ตอบว่า “ไม่รู้” เมื่อถามย้ำว่ากังวลหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า “ไม่มีอะไรกังวล”

ป.ป.ช.ยังไม่ส่งข้อสรุปให้รัฐบาล

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้สรุปผลการศึกษา วิเคราะห์โครงการส่งให้ที่ประชุมป.ป.ช.แล้ว แต่ยังไม่มีมติส่งเรื่องให้รัฐบาลไปพิจารณา เพิ่งพิจารณารายงานสรุปผลการศึกษาไปแค่ครั้งเดียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาว่ามีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอแล้วหรือยัง จำเป็นต้องมีข้อมูลใดเพิ่มเติมหรือไม่ จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่อีกครั้ง แต่ยังไม่กำหนดเมื่อใด จึงยังไม่มีการส่งเรื่องให้รัฐบาลทราบ หากส่งรายงานให้รัฐบาลแล้ว เป็นอำนาจฝ่ายบริหารจะดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปหรือไม่ ป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะ ข้อควรระวังเท่านั้น หากดำเนินการโครงการไปแล้ว ไม่มีความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือการทุจริตเกิดขึ้นไม่เป็นไร แต่ถ้าความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ต้องไปดูว่าเป็นข้อผิดพลาดจากการบริหารนโยบายหรือมีการทุจริตมาเกี่ยวข้อง

“สุภา” ชงสรุปรายงานให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน หลังจาก ป.ป.ช.ตั้งขึ้น 23 คน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 มีตัวแทนหน่วยงานเศรษฐกิจ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อศึกษาถึงความเสี่ยงและผลกระทบ ล่าสุดคณะกรรมการได้สรุปผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงการดำเนินโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งให้คณะ กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

พบช่องโหว่เอื้อทุจริตเชิงนโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาได้ข้อสรุปข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวมีความเสี่ยงหลายเรื่องได้แก่ 1.ความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย แหล่งที่มาของเงินในโครงการที่มาจากการกู้เงินและเงื่อนไขการแจกเงิน ไม่ตรงกับที่แจ้งต่อ กกต. เมื่อเงื่อนไขการแจกเงินเปลี่ยนไป ไม่ให้ทุกคนและเปลี่ยนแหล่งที่มาเงินเป็นการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะเห็นว่าการเสนอนโยบายช่วงหาเสียง การแถลงนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการตามนโยบายไม่มีความชัดเจน ไม่ปรากฏหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเป็นหน่วยงานใด บ่งชี้เป็นการหาเสียงโดยไม่มีความพร้อม ไม่พิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ ทั้งด้านเศรษฐกิจและกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อพิจารณารายละเอียดเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กำหนดเงื่อนไขขึ้นเงินของร้านค้าที่ร่วมโครงการ อาจเสี่ยงเอื้อประโยชน์บุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ ต้องศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคลหรือกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่ารายย่อย ต้องมีวิธีการเป็นรูปธรรมชัดเจนให้โครงการกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่ให้มีความเสี่ยงรับจ้างลงทะเบียนร้านค้าในลักษณะนอมินีให้อยู่นอกระบบฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร เพื่อเลี่ยงภาษี หรือใช้ฟอกเงินทำผิดกฎหมาย หรือความเสี่ยงสมคบคิดกันทุจริตระหว่างร้านค้ากับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงิน โดยไม่ซื้อขายสินค้าจริง ต้องมีมาตรการป้องกันชัดเจน มีประสิทธิภาพ

ตัวเลขฟ้องไม่เข้าขั้นวิกฤติร้ายแรง

2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาระบุว่า นโยบายดังกล่าวไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงในระบบเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ จึงต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจประเทศในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเพียงใด เมื่อพิจารณาข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ พบว่ามีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ไปทิศทางเดียวกัน ข้อมูลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 2.4 ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน อาทิ ธปท. สศช. นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ อาจารย์มหา วิทยาลัย วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันว่าไม่เข้าข่ายวิกฤติ ไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจไทย แต่อาจเจริญเติบโตที่ชะลอตัวหรือต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน กับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 วิกฤติมหาอุทกภัย ปี 2555 วิกฤติโควิด ปี 2563-2564 พบว่ายังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

แนะเลือกแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ข้อมูลสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ประเมินผลกระทบทางการคลังที่สำคัญของโครงการจะมีภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 15,800 ล้านบาทต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 การชำระต้นเงินกู้เพิ่มจากเดิมปีละ 125,000 ล้านบาท การจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ ภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ในกรณีจำเป็นต้องดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ตามนิยามวิกฤติเศรษฐกิจของธนาคารโลก การจัดลำดับความสำคัญ การพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อาจเป็นทางเลือกจะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงผิด ก.ม.หลายฉบับ

3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องชอบด้วยกฎหมาย ต้องรักษามาตรฐานวินัยการเงินการคลัง เงื่อนไขการใช้วิธีกู้เงินจะทำได้โดยอาศัยอำนาจการตรากฎหมายขึ้นเป็นการเฉพาะ และเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤติประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบฯรายจ่ายประจำปีได้ทัน ดังนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จะเป็นกรณีจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศหรือไม่ แต่จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สรุปชัดเจนว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤติ ดังนั้นหากรัฐบาลจะตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รวมถึงผิด พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติกฎหมาย

จี้ กกต.หมั่นสแกนนโยบายหาเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อป้องกันการทุจริตนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตดังนี้ 1.รัฐบาลต้องศึกษาการดำเนินโครงการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ต้องมีวิธีการชัดเจนให้กระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง 2.การหาเสียงพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งกับสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแตกต่างกัน กกต.ควรตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานพรรคการเมืองหาเสียงอย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 3.ตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ปรากฏอัตราความเจริญเติบโตประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภคภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น

ฟันธงชัดโครงการมีผลเสียมากกว่าผลดี

4.โครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลังและความคล่องตัว โครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดีคือต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท สร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลในระยะยาว จะต้องตั้งงบฯชำระหนี้จำนวนนี้ 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ 5.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 พ.ร.บ.มาตรา 4-6 เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นไปตามกฎหมาย 6.ครม.ควรประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการบริหารความเสี่ยง การป้องกันการทุจริต มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ เพื่อให้โครงการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

ให้ล็อกเป้าแจกเงินกลุ่มเปราะบาง

7.การดำเนินนโยบายรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 8.การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครม.ควรพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสม ระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ โครงการดังกล่าวเป็นการแจกเงินครั้งเดียว ให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า

อุตตม สาวนายน
อุตตม สาวนายน

ชี้เรื่องดี รบ.รับฟังความเห็นทุกฝ่าย

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายและการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พรรคพปชร.ในฐานะอดีต รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังร่วมเสวนาวิชาการ “พลิกมุมคิดเรื่องการเงินการคลัง” ถึงโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ต้องให้เวลารัฐบาลดำเนินการ เพื่อดูว่าจะมีแนวทางและนโยบายขับเคลื่อนอย่างไร แต่เป็นสิ่งดีที่รัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ต้องรอดูว่าจะออกมาภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ขณะนี้มีแนวคิดบางฝ่ายกังวลจะเกิดปัญหา ฝ่ายสนับสนุนก็มี เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ส่วนการตีความว่าวิกฤติที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้อยู่ที่มุมมองแต่ละคน คงไม่สามารถไปตัดสินได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขเติบโตของเศรษฐกิจของไทยขยายตัวจริง แต่เป็นไปอย่างช้าๆเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลควรสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นจริง โดยนโยบายที่ออกมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้

“ดิเรกฤทธิ์” โว สว.ขอลงชื่อยื่นซักฟอกเพิ่ม

อีกเรื่อง เมื่อเวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สว. จะยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เราจะเสนอเรื่องไปที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สว. วันที่ 22 ม.ค. ให้ส่งเรื่องไป ให้รัฐบาล ขณะนี้รวบรวมได้ 90 กว่าเสียงแล้ว ต้อง หารือรัฐบาล จะให้เวลาช่วงไหนหรือให้กี่วัน จากที่ ได้รับการประสานเบื้องต้น ผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลตอบรับ มาอย่างดี ไม่กังวลว่าลงชื่อแล้วจะถอนภายหลัง ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ ถ้าถอนภายหลังต้องอธิบายสังคมให้ได้ คิดว่าจะมีการลงชื่อเพิ่ม ไม่มีการถอน ส่วนกรอบเวลาเหมาะสมในการอภิปราย จะเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบ เปิดอภิปรายให้ทันเวลา ก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น หรือก่อนที่รัฐบาลจะก้าวพลาด โดยใช้เวลาอภิปราย 1-2 วัน จะเหมาะสม แต่อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาล

ล่าชื่อได้ 91 คน เชื่อไม่มีใครเปลี่ยนใจ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธานกรรมาธิการ พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภากล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า ขณะนี้มี สว.ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว 91 คน จะเปิดให้ลงชื่อจนถึงวันที่ 16 ม.ค. จากนั้นจะพิจารณายื่นเรื่องให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน วุฒิสภา ในช่วงวันที่ 19 ม.ค.หรือ 22 ม.ค. คาดว่าจะมี สว.ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก แต่จะไม่มีผู้ใดถอนรายชื่อ กว่าที่ สว.จะร่วมลงชื่อได้พิจารณาเนื้อหาญัตติอย่างรอบคอบแล้ว ส่วนกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ สว. ระบุว่า อาจมีคนถอนชื่อออกจนยื่นญัตติไม่ได้นั้น เป็นแค่หลักการ แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครถอนรายชื่อ สำหรับการเตรียมพิจารณากรอบเวลานั้น กมธ.พัฒนา การเมืองฯได้หารือร่วมกันเมื่อ 15 ม.ค. เบื้องต้นอยู่ระหว่างการสอบถาม สว.ที่ร่วมลงชื่อว่าต้องการอภิปรายในประเด็นใดใน 7 หัวข้อตามญัตติ จะใช้เวลา เท่าใด เพื่อดูรายละเอียดต้องใช้เวลาเท่าใด ใช้เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าควรใช้เวลา 2 วัน

เดินหน้าชำแหละปมคนชั้น 14

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้อภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก่อนยื่น ญัตติต้องทบทวนประเด็นนี้หรือไม่ นายเสรีตอบว่าไม่มีการทบทวน ก่อนที่ สว.จะลงชื่อสนับสนุนญัตติได้ส่งรายละเอียดให้พิจารณาแล้ว ไม่สามารถทำตามใจ ตัวเองได้ ส่วนการอภิปรายดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ควรมาตอบด้วยตนเองหรือไม่ แล้วแต่นายกฯ แต่หากให้ดีนายกฯควรมาเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง

“วันชัย” เชื่อมีแนวโน้มถอนชื่อทีหลัง

นายวันชัย สอนศิริ สว.ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ ตรวจสอบแล้วรายชื่อได้ครบ 91 คน เพียงพอแล้วต่อ การเสนอญัตติ แต่คณะดำเนินการพยายามขอรายชื่อ สมาชิกเพิ่มให้เกินราว 10-20 คน ให้ได้ 99-100 คน เป็นต้นไป เผื่อขาดเผื่อเหลือ สว.ที่ลงชื่อไปแล้วถือเป็น สิทธิจะถอนรายชื่อออกหากเปลี่ยนใจ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เป็นเรื่องปกติ คณะดำเนินการจึงพยายาม หาเสียงให้มาก เผื่อ สว. คนใดจะมาถอนชื่อ 5-10 คน ยังครบ 84 คน ยังเสนอญัตติได้ คิดว่าคนที่ลงชื่อไปแล้วมีสิทธิอาจเปลี่ยนใจภายหลังได้ ถ้าสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับ ที่ผ่านมาพรรคพวกใครมาขอร้องให้ช่วยเซ็นญัตติใด เรามักเซ็นให้ไม่ค่อย ขัดใจ แต่ตอนหลังถ้ามีสถานการณ์ อาจเกิดการเปลี่ยน แปลงภายหลังก็เป็นไปได้ ที่สำคัญ สว.ไม่ได้มีพรรค แต่ละคนเป็นอิสระ แต่เป็นอิสระ 100% หรือไม่ บางคน เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกัน กระแสเหล่านี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังได้

เสรี สุวรรณภานนท์
เสรี สุวรรณภานนท์

สว.ยื่นญัตติซักฟอกไม่ลงมติ 22 ม.ค.

ต่อมาเวลา 16.30 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังปิดรับรายชื่อ สว.ที่เข้าชื่อยื่นอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า รวบรวมรายชื่อ สว.ที่ สนับสนุนการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ได้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว มี สส.เข้าชื่อทั้งสิ้น 99 คน จากที่กำหนดไว้ 84 คน จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายรัฐบาลต่อประธานวุฒิสภาในวันที่ 22 ม.ค. เวลา 09.30 น.

ฝ่ายค้านเล็งเปิดเวทีไม่วางใจรัฐบาล

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ฝ่ายค้านตั้งใจตรวจสอบนโยบายรัฐบาล ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต โครงการแลนด์บริดจ์ วิปฝ่ายค้านหารือกันจะเปิดอภิปรายช่วงปลายเดือน มี.ค.หรือต้นเดือน เม.ย. หลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 67 กำลังพิจารณาว่าจะอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ขึ้นอยู่กับข้อมูลประเด็น เมื่อถามว่าเหตุใดกระบวนการยุติธรรมกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ พรรค ก.ก.ลดความสำคัญ แต่ไปเน้นดิจิทัลวอลเล็ต โครงการแลนด์บริดจ์ สวนทาง สว.นายพริษฐ์ตอบว่า พรรค ก.ก.ให้ความสำคัญทุกเรื่อง แต่ดิจิทัลวอลเล็ตต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทให้สภาฯพิจารณา เช่นเดียวกับโครงการแลนด์บริดจ์ รายงาน กมธ.ศึกษาเสร็จสิ้นเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ แต่ประเด็นทั่วไปที่สังคมตั้งคำถามใช้กลไกกระทู้ถามสดมาตลอดเพื่อถามมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของนายทักษิณ หัวหน้าพรรค ก.ก.เคยตั้งกระทู้ถามสดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

“อนุทิน” นัด 25 ม.ค.เลี้ยงข้าวบิ๊กรัฐบาล

เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการที่พรรค ภท.เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดรับประทานอาหารครั้งที่ 2 กับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่า ยังเป็นวันที่ 25 ม.ค.เหมือนเดิม จัดที่ร้านอาหารย่าน จ.ปทุมธานี ขอความกรุณาสื่อมวลชนอย่าตามกันไปเลย ขอความเป็นส่วนตัวหารือกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาล หากมีประเด็นอะไรสำคัญจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

นายกฯประเดิมภารกิจที่เมืองดาวอส

สำหรับภารกิจนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.นั้น เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ม.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซูริก ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ที่โรงแรม Mandarin Oriental Savoy Zurich นายเศรษฐาพบหารือกับนายสเตฟาน บุทซ์ ผู้บริหารบริษัท DKSH Holding AG ถึงปัญหาการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ จากที่มีโรคระบาดใหม่ๆเกิดขึ้น โดยบริษัทจำเป็นต้องใช้กระบวนการและระยะเวลาเข้ามาจัดจำหน่ายในไทยยาวนาน รัฐบาลจะรับไปแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อคนไทยและบริษัทโดยบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เสนอให้ไทยใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสินค้า สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่บริษัทยังมีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ ไทยก็มีโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บริษัทสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ นายสเตฟานยืนยัน เชื่อมั่นศักยภาพไทย พร้อมเชิญชวนบริษัทพันธมิตรร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น

กวักมือบริษัทใหญ่มาลงทุนไทย

ต่อมานายกฯให้สัมภาษณ์ว่า บริษัท DKSH Holding AG ทำธุรกิจในไทยมายาวนานมาก เชื้อชาติสวิตเซอร์แลนด์ ทำสินค้าประเภทเวชภัณฑ์ อุปโภคบริโภค แบรนด์ใหญ่ อาทิ ครีมนิวเวีย ถือเป็นกองเชียร์สำคัญของไทย อยากให้ย้ายโรงงานมาอยู่ที่ไทย เขาจะไปพูดคุยและเชื้อเชิญ ยินดีไปพบและพูดคุย หากสนใจมาเปิดฐานการผลิตที่ไทย จุดประสงค์ใหญ่ให้หลายบริษัทใหญ่ๆย้ายถิ่นฐานมาผลิตในไทย เช่น เรื่องยา เพราะมั่นใจว่ามีบุคลากรพร้อม มีมาตรการภาษี พร้อมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในเมืองไทย การพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี และบริษัทได้มอบหนังสือหน้าปกทำจากผ้าไหมไทยที่สวยมาก แสดงให้เห็นว่าให้เกียรติและชื่นชมคนไทย และได้ฝากเรื่องแลนด์บริดจ์ ทั้งนี้นายกฯได้ทวีตข้อความผ่าน X ว่าให้สัมภาษณ์นักข่าวนอกสถานที่ถึงความตั้งใจมาประชุม WEF ครั้งนี้และการเตรียมหารือเอกชนยักษ์ใหญ่อีก 8 ราย รัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อุตสาหกรรม EV เศรษฐกิจดิจิทัล ความเชื่อมโยงผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ตลอดจนบทบาทของไทยและอาเซียน อุณหภูมิเช้านี้-5 องศาเซลเซียส แต่ความตั้งใจของพวกเราเกินร้อย

ศาล รธน.คุมเข้มวันชี้ชะตา 3 คดี

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญออกประกาศ เรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อย โดยระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.วันที่ 17 ม.ค. คดีกล่าวหานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2.วันที่ 24 ม.ค. คดีกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ที่เป็นผู้ถือหุ้นสื่ออยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และ 3.วันที่ 31 ม.ค. คดีกล่าวหานายพิธาและพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญา ยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ประกอบกับหน่วยงานความมั่นคงได้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าอาจมีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุ หรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น

คปท. บี้ ป.ป.ช.เอาผิดพวกอุ้ม “ทักษิณ”

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ ยื่นเรื่องติดตามความคืบหน้าให้ ป.ป.ช.สอบ รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามความผิด ป.อาญา มาตรา 157 จากกรณีให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน โดยนายนัสเซอร์กล่าวว่า คปท.จะล่ารายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ และ สว. 150 คน โดยประสาน สว.และฝ่ายค้านยื่นต่อ ประธานรัฐสภาตรวจสอบก่อนยื่นต่อประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนการทำงานของ ป.ป.ช. หากไม่ดำเนินการเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ยืนยัน ป.ป.ช.ไม่ได้เพิกเฉย กำลังทำหน้าที่อยู่ เบื้องต้นได้ขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษ ยื่นข้อมูลมาแล้ว มีบางหน่วยงานยังไม่ส่งข้อมูลมา อยู่ระหว่างการติดตาม พร้อมเตรียมเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบปากคำเพิ่มเติม ป.ป.ช.ต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานมาดูว่าใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายใด อนุญาตให้บุคคลไปอยู่นอกเรือนจำ ต้องรอข้อเท็จจริงจากหน่วยงานอื่น เพื่อเป็นหลักฐาน จะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่