“ชาญชัย” ยก ป.วิอาญา ม.246 (2) ปม “ทักษิณ” อาจต้องเริ่มรับโทษจำคุกใหม่ ถามกรมราชทัณฑ์ บรรเทาโทษกันเองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จ่อยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม

วันที่ 13 มกราคม 2567 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่เคยไปร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินการไต่สวนบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีกรณีการเข้ารับการรักษาอาการป่วยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษชายที่โรงพยาบาลตำรวจกว่า 120 วัน โดยศาลได้ออกคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ระบุเหตุผลว่า ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล จึงให้ยกคำร้องนั้น 

นายชาญชัย ระบุต่อไปว่า เมื่อได้ตรวจดูและศึกษาตามคำสั่งของศาลที่ระบุเน้นว่า ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น พบว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม ในหมวด 1 ของการบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 246 ที่ระบุว่า “เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น”

...

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่สรุปสาระสำคัญได้คือ การที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณ ออกจากเรือนจำมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เกินกว่า 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง อยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งตรงกับข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 (2) ที่ระบุว่า เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก 

โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้รักษาทันท่วงที ทางกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบ ที่เป็นไปตามกฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 (2) ทั้งที่กรมราชทัณฑ์ต้องทำรายงานขออนุญาตต่อศาล รวมทั้งต้องทำเรื่องขอให้ศาลทุเลาโทษจำคุกโดยให้รักษาตัวให้หายจากอาการป่วยเสียก่อน แล้วค่อยกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลต่อไป

“กรณีอ้างเหตุเจ็บป่วยไม่ยอมเข้ารับโทษในเรือนจำ น่าจะเข้าหลักเกณฑ์เรื่องการทุเลาโทษจำคุกตาม ป.วิ อาญา ม. 246 (2) ดังนั้น เมื่อเป็นการทุเลาโทษจำคุกจึงถือว่า นช.ทักษิณ ยังไม่ได้รับโทษจำคุก จนกว่าจะหายป่วย และส่งตัวเข้าเรือนจำตามปกติจึงจะเริ่มรับโทษจำคุกใหม่ การพักโทษก็ยังไม่เริ่มนับเช่นเดียวกัน ศาลยังไม่ได้สั่งให้ทุเลาโทษจำคุก แต่กลับไปทุเลากันเอง ถามว่าเรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร กรณีดังกล่าวนี้ผมเห็นว่าเป็นการทำความผิดกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 และขัดต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม และรวมถึงผู้กระทำความผิดอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกระทำความผิด ซึ่งเป็นทั้งตัวการและผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด”