"จุลพันธ์" รมช.คลัง เผย คกก.กฤษฎีกา ตอบแล้ว ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ทำ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ความคุ้มค่า และต้องฟังความเห็นรอบด้าน ลั่น เดินหน้าไทม์ไลน์เดิม 1 พ.ค. 2567
เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับในข้อกฎหมายเรื่องการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตบางข้อ เช่น การออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งในวันนี้ กระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้ จะมีการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบาย คาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการ และจะมีการหารือในที่ประชุม ครม. วันที่ 9 มกราคม 2567 นี้ เมื่อประชุมหาข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป แล้วก็จะขอความกรุณาจากเลขากฤษฎีกาช่วยสรุปคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า มีข้อสังเกต และมีวิธีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อนำเสนอแล้วจะมีมติเดินหน้าอย่างไร
“กฤษฎีกามามีความเห็นว่าทำได้ แต่มีข้อสังเกตว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น สถานการณ์วิกฤติ ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ มาตรา 57 ความคุ้มค่าของโครงการต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน จะต้องมาดูว่า จะทำกลไกอย่างไรเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชน หรือเสียงสะท้อนจากส่วนงาน” นายจุลพันธ์ กล่าว...
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างเปราะบาง ประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่า คงต้องดำเนินการกระตุ้นได้แล้ว แต่กลไกทั้งหมด เมื่อมีข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงรัฐบาลในการที่จะหาคำตอบ และรายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อชี้ต่อสังคม และส่วนงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบทั้งหมด
...
ส่วนการเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ 100% คาดว่า สามารถทำได้รวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งรายละเอียดจะประกอบด้วย หลักการและเหตุผล เนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอกสารประกอบ รายละเอียดโครงการทั้งหมด และรวมถึงรายละเอียดผลการชำระเงินคืนด้วย
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ทำได้ แต่มีข้อสังเกต 3 ประเด็นใหญ่ คือ ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของโครงการ และต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน