ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าด้วยการทำงานหนักของรัฐบาล+ภาคเอกชนสามารถเอาชนะสงครามเศรษฐกิจได้ ที่เกิดขึ้นในยุค “ป๋าเปรม” เมื่อ พ.ศ.2527 ที่ผมเล่าเป็นมินิซีรีส์เมื่อวานนี้จบลงด้วยการลดค่าเงินบาทและการแต่งตั้งคณะ “กรรมการ” ขึ้นมาใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด

ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออย่างเป็นทางการของกรรมการชุดนี้คืออะไร แต่จำได้ถึงการทำงานอย่างหนักหน่วงของท่านประธาน ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ใน พ.ศ.นั้น กับท่านเลขานุการคณะกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ประสานงานของกรรมการด้วย...คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ใน พ.ศ.นั้นเช่นกัน

จริงๆแล้วคณะกรรมการชุดนี้เริ่มงานอย่างไม่เป็นทางการ หลังปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล ประกาศลดค่าเงินบาทเพียงไม่กี่วันโน่นแล้ว

ดร.เสนาะท่านเตรียมกรอบงานที่จะทำและเตรียมรายชื่อคณะกรรมการทั้งภาครัฐภาคเอกชนที่จะมาร่วมทำงาน ทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กซึ่งจะมีหลายๆชุดเอาไว้พร้อมสรรพ

ท่านร่างสุนทรพจน์ปีใหม่ 2528 ของ พลเอกเปรม ด้วยตนเอง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจว่าตกต่ำอย่างไร? ทำไมต้องลดค่าเงินบาท? และเมื่อลดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

ในสุนทรพจน์ดังกล่าว ป๋าเปรมจะบอกประชาชนในวันส่งท้ายปีเก่าเลยว่า รัฐบาลจะตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดูแลเรื่องนี้ และขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจกันกอบกู้เศรษฐกิจไปพร้อมๆกับท่าน

จากนั้นวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2528 กลับมาทำงานวันแรกหลังปีใหม่ พลเอกเปรมก็ตั้งกรรมการทันที และท่านประธาน ดร.เสนาะและท่านเลขานุการก็ลงมือทำงานทันที

ถกกันทุกวันหาประเด็นกันทุกวันว่าปัญหาในแต่ละด้านอยู่ตรงไหน? จะต้องแก้อย่างไร? และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

...

อุปสรรคในการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องใดบ้าง...รีบไปหามาและรีบแจ้งโดยด่วน

ประชุมทุกวัน ประสานและดำเนินการทุกวัน และก็จะสั่งการให้ผม ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เข้าประชุมด้วยทุกวัน และเกือบทุกๆเรื่อง

ผมก็จะนำผลการประชุมมาตีฆ้องร้องป่าวตามหน้าที่ ส่งข่าวให้ทั้งสื่อไทยและสื่อภาษาฝรั่ง ซึ่งขณะนั้นก็มี Bangkok Post และ The Nation เป็นหลัก

มีความจำเป็นจะต้องขอร้องให้เพื่อนๆลงข่าวเรื่องใด ผมก็จะโทร.ไปขอเป็นกรณีพิเศษกับพี่ๆเพื่อนๆที่อยู่ในสื่อมวลชนต่างๆ

เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้ว่า เรากำลังทำงานเรื่องนี้กันอยู่และไม่เฉพาะพี่น้องชาวไทยเท่านั้น ยังรวมถึงพี่น้องชาวโลกผ่านสื่อภาษาอังกฤษของเราด้วย

ผมคิดว่าสักเดือนเศษๆเท่านั้น

เราก็ได้มาตรการรวมแล้ว 24 มาตรการ พร้อมกับส่งคืนให้กระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ โดยคณะกรรมการจะประสานอยู่ข้างๆ เพื่อกระตุ้นให้การทำงานเดินหน้าต่อไป

พูดไปก็เหมือนโกหกแต่มันก็จริง เพราะ “วันลอยกระทง” 2528 ถัดมากลายเป็นวันลอยกระทงที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การลอยกระทงไทย เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ผู้คนรายได้ดี จึงออกมาฉลองวันลอยกระทงอย่างเต็มที่

จากนั้นไม่นานนัก นิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ ก็นำเสนอสารคดีจากปกกล่าวถึงความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในขณะที่ ไทมส์ กับ นิวส์วีค ฉบับเอเชีย ก็แข่งกันตั้งฉายาประเทศไทยให้เป็น “เสือตัวใหม่” แห่ง “เอเชีย” บ้าง เป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือ NIC บ้าง

ทำให้ผมเชื่อในศักยภาพของประเทศไทย และเชื่อว่าถ้าเรามีผู้นำประเทศที่อุทิศตน ไม่คอร์รัปชัน และมีความขยันตลอดจนรับฟังคนอื่นและใช้คนเป็น ประเทศไทยของเราจะไม่มีวันอับจนอย่างแน่นอน

รวมทั้งทำให้ผมเชื่อว่าช่องทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ และการทำให้เศรษฐกิจของชาติฟื้นตัวได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้อง “แจกเงิน” หรือกระตุ้นด้วยนโยบายประชานิยมแต่อย่างใดเลย

ประเทศไทยของเรามีสมรรถภาพและประสิทธิภาพที่ดีพอ ที่พร้อมจะฟื้นตัวกลับมาใหม่ได้เสมอ

โดยไม่จำเป็นต้องทำในแบบเสี่ยงๆ และมีผลเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมหาศาลด้วยการ “แจกเงิน” เพื่อเอาใจประชาชน แต่ทำให้ประเทศล้มละลายทางเศรษฐกิจ ดังที่เกิดขึ้นให้เห็นจำนวนมากทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม