“ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์” ฝากการบ้านรัฐบาล 4 ข้อ แก้วิกฤติเด็กเกิดต่ำ บอกน่าอิจฉางบซื้ออาวุธที่มาก จนสร้างเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าไม่ได้ ชี้ถ้าไม่สร้างสวัสดิการที่ดีไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเกิดมาในประเทศที่ไร้ความหวัง

วันที่ 5 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 11.27 น. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรก วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงวิกฤติเด็กเกิดต่ำ ว่า ประชาชนต้องการใส่ใจเรื่องงบประมาณ ไม่ใช่การขอร้องให้ทุกคนมีลูก เพราะหลายประเทศก็เกิดวิกฤติดังกล่าว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศมีการอุดหนุนค่าเลี้ยงดูเด็กเพื่อกระตุ้นให้การเกิด แต่พบว่าประเทศไทยมีงบในการสนับสนุนกลุ่มแม่และเด็กแค่ 46 ล้านบาท ที่น้อยกว่าเงินจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ น้อยกว่างบประมาณที่ใช้เพื่อกรณีนักท่องเที่ยวถูกหลอกลวง ซึ่งถือว่าห่างไกลกับวิกฤติแห่งชาติ 

เมื่อดูงบอุดหนุนเด็ก ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่นอกจากไม่ถ้วนหน้า และยังได้แค่ 600 บาท/เดือน ทำให้เด็กตกหล่นกว่าหลายแสนคน 

“รัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญในการแก้วิกฤติเด็กเกิดต่ำ หากบอกว่างบประมาณถ้วนหน้าใช้เงินเยอะไป ยังรู้สึกอิจฉางบสงครามที่ได้เยอะกว่ามากๆ”

น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนแม่หลังคลอดที่เพียงพอ รวมถึงงบที่ใช้พัฒนาแม่เลี้ยงเดี่ยวและพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็ยังพบว่าไม่เพียงพอ อาจทำให้เป็นกลุ่มที่ตกหล่นได้ 

“การแก้ไขปัญหาวิกฤติเด็กเกิดต่ำ ไม่ใช่แค่การออกมาพูดว่า เร่งปั๊มลูกๆๆ แต่ต้องแก้หมดครบวงจร เหตุผลที่ประชากรไม่อยากมีลูก เพราะโครงสร้างของประเทศไม่ได้เอื้อต่อการมีลูกเลย เด็กรุ่นนี้น่าสงสารมาก” 

...

น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า การที่มีสวัสดิการที่ดีจะทำให้ประชากรตัดสินใจมีลูกได้ง่ายมากขึ้น เช่นวันลาคลอด 180 วัน ชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสม ห้องให้นม ห้องเปลี่ยนแพมเพิส ทางเท้าที่ปลอดภัย ถนนที่ปลอดภัย อากาศที่มันสะอาด ระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เงินอุดหนุนที่ถ้วนหน้า ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ต้องลุ้นว่าลูกชายจะไปเกณฑ์ทหารแล้วถูกซ้อมหรือไม่ พร้อมชี้ว่ากระดุมเม็ดเดียวที่รัฐบาลติดผิด จะใช้งบประมาณไปอย่างไร้ประโยชน์ และไม่เกิดผลลัพธ์

จึงขอให้รัฐบาลไปทำการบ้าน 4 ข้อ คือ สนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูลูก 180 วันทั้งพ่อและแม่ และได้รับค่าจ้างเต็มเวลา พร้อมฝากนายกรัฐมนตรีเซ็นเอกสารดังกล่าวที่อยู่บนโต๊ะด้วย รวมถึงควรส่งเสริมสวัสดิการที่เอื้อต่อการมีลูก มากกว่าบอกให้พวกเราเร่งปั๊มลูก และการสร้างพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก Day care ให้มีมากขึ้น และได้มาตรฐาน 

“หากรัฐบาลยังจัดงบ โดยไม่เข้าใจว่าวิกฤติเด็กเกิดต่ำ เป็นอนาคตวิกฤติประเทศ การตัดใจไม่มีลูกของพวกเขา จะเป็นเหมือนเสียงสะท้อนความไม่พอใจของพวกเขาได้ดีที่สุด ว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่ากับพวกเขา เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวังแบบนี้” น.ส.ศศินันท์ กล่าว