“สุรเชษฐ์” สส.ก้าวไกล ชำแหละงบประมาณ กรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบท ไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน จี้ รมว.คมนาคม ตอบ ลดคนตายจากอุบัติเหตุได้กี่คน

เมื่อเวลา 20.59 น. วันที่ 4 มกราคม 2567 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันที่ 2 ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลตั้งงบประมาณ เป็นการคิดไปทำไป โดยเริ่มในส่วนของงบคมนาคมไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน โดยงบกระทรวงคมนาคมปี 2567 จำนวน 183,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็น 1.84% และยังได้งบลุงทุนมากที่สุดในประเทศ โครงสร้างระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ก็ทับซ้อนกันทั่วประเทศ หากส่วนกลางทำไม่ไหวก็ควรจัดสรรงบไปให้ท้องถิ่นดำเนินการ ควรลดละเลิกการซ่อมซ้ำซ่อมซาก และควรปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากขึ้น การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับความปลอดภัยทางถนน งบอยู่ที่กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท อีกทั้ง KPI ก็เหมือนของบประมาณไปเรื่อย วัดไม่ได้จริง ข้อมูลอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนของกระทรวงคมนามคมก็เก็บสถิติได้น้อยกว่าความเป็นจริงมาก และควรกำหนดเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตอย่างชัดเจน ไม่ใช่ตั้งตัวเลขเพิ่มขึ้น อีกทั้งการขับรถเร็วก็เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุในไทย โดยเมื่อเปรียบเทียบพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าโควิด-19 ในช่วงเวลาเดียวกัน ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มากถึง 80% ส่วนกลุ่มอายุที่น่าห่วงที่สุดคือ 15-24 ปี (ข้อมูลสำรวจใน กทม.) 

...

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยขาดการจัดลำดับชั้นของถนน จึงมียูเทิร์นมากมาย จนเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั่วโลกโดยหลักการใหญ่จะมีการแบ่งเส้นทางอย่างเป็นระบบ หากทำอย่างมีระบบคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ขนส่งสาธารณะเข้าถึง รวมถึงอื่นๆ หากรัฐบาลบอกว่าคิดใหญ่ทำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหา การตั้งงบประมาณต้องแก้ปัญหาได้จริง เป็นรายจุด และต้องทำได้ครบถ้วนทั่วประเทศ ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยถนนด้วย อีกทั้งเวลาเกิดอุบัติเหตุต้องมีการตรวจสอบเชิงลึก เน้นป้องกันเกิดซ้ำ ลดจุดเสี่ยงสูง การบังคับใช้กฎหมายของประเทศเรามีปัญหาจริง แต่ต้องมองให้ลึกกว่านั้นว่าเป็นปัญหาโครงสร้างแบบไทยๆ 

1. ผลักดัน พ.ร.บ.ถนน แก้ปัญหา Road Hierarchy (การจัดลำดับชั้นของถนน) ต้องกระจายอำนาจ เสริมสร้างความปลอดภัย

2. คิดสร้างเมือง อย่าเอาแต่สร้างถนนแล้วให้เมืองโตตามยถากรรม

3. ทำให้คนส่วนหนึ่งหันไปใช้ขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่ขาดมากคือเส้นเลือดฝอย รถเมล์/ฟีดเดอร์ ซึ่งขาดการอุดหนุนจากรัฐ

ในช่วงท้าย นายสุรเชษฐ์ ถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า หากยึดตัวเลขการตายที่เกิดขึ้นจริงจากข้อมูล 3 ฐาน จากวันนี้ไปอีก 1 ปี กรมทางหลวง ที่ได้งบไป 1.2 แสนล้านบาท ลดจำนวนคนตายลงกี่คน กรมทางหลวงชนบท งบเกือบ 5 หมื่นล้านบาท จะลดจำนวนคนตายลงกี่คน และจบการอภิปรายในเวลา 21.30 น.