“สุริยะ” แจงที่ประชุมสภา นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง-สายสีม่วง ทำได้เร็วกว่าที่ประกาศไว้ ส่วนสายอื่นๆ ต้องเร่งผลักดันกฎหมายตั๋วร่วม ด้าน รมช.คลัง ชี้ เกือบทุกรัฐบาลใช้นโยบายขาดดุลมาตลอด
เมื่อเวลา 21.48 น. วันที่ 3 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่อภิปรายเกี่ยวกับงบกระทรวงคมนาคม โดนในเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงต่อที่ประชุมสภา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ซึ่งเมื่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงจะทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในครอบครัว รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการบริการสาธารณะของรัฐบาล
ทั้งนี้เมื่อรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในวันที่ 14 กันยายน 2566 ตนได้ประกาศว่า การทำนโยบายนี้ให้เป็นจริงจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพราะต้องเจรจาผู้รับสัมปทานเดิม และหาแหล่งทุนสนับสนุน แต่เมื่อดูรายละเอียดพบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายมีม่วง เป็นสายที่รัฐบาลดำเนินการเอง จึงหวังให้ 2 สายนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน แต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 สามารถนำนโยบายดังกล่าวมาให้ประชาชนสำเร็จภายใน 32 วันเท่านั้น
ส่วนประเด็นว่านโยบายนี้ทำให้รถไฟฟ้าขาดทุนปีละหลายพันล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านั้นขาดทุนอยู่แล้ววันละ 6.9 ล้านบาท หลังเริ่มนโยบาย 20 บาท ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ช่วงแรกจะมีรายได้ลดลง แต่ต่อมารายได้ทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อทำระบบฟีดเดอร์เชื่อมให้ประชาชนมายังรถไฟฟ้าสะดวกขึ้น รายได้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะสูงกว่ารายได้ คือจะทำกำไรได้แน่นอน
...
นายสุริยะ ยังระบุต่อไปถึงรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ในนโยบาย 20 บาทตลอดสายว่า ต้องชดเชยรายได้ผู้ประกอบการตามสัญญา จึงต้องเร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อนำเงินมาชดเชยผู้ประกอบการ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบ สำหรับเรื่องที่ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณสนับสนุนในนโยบาย 20 บาทนั้นเป็นเรื่องจริง เนื่องจากแหล่งเงินที่รัฐบาลสนับสนุนค่าโดยสารให้ประชาชน ได้มาจากเงินรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงไม่ปรากฏในเล่มงบประมาณ โดย นายสุริยะ ใช้เวลาไม่นาน จบการชี้แจงเสร็จในเวลา 21.55 น.
ต่อมาเวลา 22.03 น. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเรื่องการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนโยบายขาดดุลเป็นนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณ เกือบทุกรัฐบาลก็ใช้นโยบายขาดดุลมาโดยตลอด มีเพียงบางปีที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจ หรือการจัดเก็บรายได้ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลด้วยความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการพัฒนาประเทศ สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นการขาดดุลเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งการกระตุ้นดึงดูดภาคเอกชนมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการกู้เงินเป็นหนี้สาธารณะก็ตาม แต่หากดูในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง จะเห็นว่าหนี้สาธารณะที่จะโตไปจนถึง 64% มีถึง 10% ไม่ต้องใช้รายได้ของรัฐบาลไปจ่ายคืน แต่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจซึ่งมีความสามารถชำระคืนเอง หรือหนี้ของกองทุนฟื้นฟูที่มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนที่จะคืนเงินกู้ตรงนั้นอยู่แล้ว
ขณะที่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในระหว่างฟื้นตัวจากโควิด-19 เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการคลังนี้ผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายการคลังในการปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง จากร้อยละ 3.64 ในปี 2567 เป็นร้อยละ 2.92 ในปีงบประมาณ 2571
ส่วนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ นายกฤษฎา ระบุว่า ในระหว่างการพิจารณางบประมาณ โดยในชั้นต่อไปที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณาในรายละเอียดของงบประมาณ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง มีการกำหนดในเรื่องการดำเนินการว่าให้หน่วยงานสามารถกำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะ คุณสมบัติของผู้เสนอราคาเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงรูปแบบและเนื้อหาสัญญาที่จะลงนามคือสามารถทำได้ล่วงหน้า และเมื่อเสนอเข้าสู่สภาในวาระ 2 ให้หน่วยงานเร่งจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงจัดให้ได้ผู้ชนะการประกวดราคา และพร้อมที่จะทำสัญญาทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติทางการเงินจากสภา ซึ่งกรมบัญชีกลางก็จะเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในระบบของภาครัฐอย่างรวดเร็วได้
นายกฤษฎา กล่าวต่อไปถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566) สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิได้ตามเป้าหมายสะสม 2 เดือน สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 0.4 หรือประมาณ 1,500 กว่าล้านบาท ขณะที่ตัวเลขล่าสุดของ 3 เดือน ก็ยังจัดเก็บได้เกินกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณนี้ คือเกือบ 3,000 ล้านบาท ก่อนย้ำทิ้งท้ายว่า กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อให้เก็บรายได้เป็นไปตามเอกสารงบประมาณ ก่อนจบการชี้แจงในเวลา 22.08 น.