"เศรษฐพงค์" ห่วงวิกฤตน้ำท่วมใต้ แนะใช้เทคโนโลยีอวกาศช่วยแจ้งเตือนภัยพิบัติ-วิเคราะห์ความเสี่ยง เชื่อช่วยลดความสูญเสีย ประเมินสถานการณ์ได้เร็ว-แม่นยำมากขึ้น ชี้ พัฒนาต่อยอดไปเรื่องอื่นๆได้อีก
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.66 พ.อ.ดร. ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยใน จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ว่า รัฐบาลต้องพยายามทำงานให้ดีขึ้นในแง่ของการเตือนภัยและวิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีแนวนโยบายที่จะพัฒนาในเรื่องนี้ โดยปัจจุบันเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีหน้าที่โดยตรงในการแจ้งเตือนและวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เตรียมตัวรับมือกับภัยธรรมชาติ แต่ในระยะหลังนี้มีเทคโนโลยีอวกาศ อย่างภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล กรณีเกิดภัยธรรมชาติ โดยหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศ และภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งตรงนี้เราสามารถพัฒนาและต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆได้อีก
...
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การใช้ภาพถ่ายดาวเทียม สามารถวิเคราะห์พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ทิศทางการไหลของน้ำ และประเมินความเสี่ยงได้ รวมถึงยังทำให้สามารถวิเคราะห์พื้นที่ในการอพยพประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงจะทำให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงได้ ที่สำคัญคือสามารถนำมาใช้ในการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ และอันตรายที่จะเกิดขึ้น ลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านได้มาก นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียม ยังมีการบันทึกเป็นช่วงเวลาสามารถย้อนหลังได้เป็นสิบปี จะทำให้เราสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบได้ในการประเมินภัยพิบัติต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะอุทกภัยเท่านั้น เรื่องปัญหาภัยแล้งและการจัดการน้ำ เทคโนโลยีนี้ก็ยังมีประโยชน์อย่างมาก
"ภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกของเรานั้น มีหลายหลายรูปแบบ ทั้งอุทกภัย ไฟป่า ปัญหาฝุ่นควัน และภัยแล้ง การมีเทคโนโลยีอวกาศจะช่วยเป็นเหมือนดวงตาสังเกตการณ์ คอยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนทุกภัยพิบัติ โดยหลายประเทศก็นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานกันอย่างกว้างขวางแล้ว ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นภาพรวมต่างๆได้กว้างขึ้นกว่าเดิม หากเราสามารถพัฒนารูปแบบการแจ้งเหตุภัยพิบัติที่รับรู้โดยทั่วกัน จะช่วยลดความสูญเสีย และเสียหายอันเกิดจากธรรมชาติได้อย่างมหาศาล ซึ่งทาง สจล.และ ECSTAR มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และบุคลากร ซึ่งเราก็หวังว่าในอีกไม่นาน เราจะมีเทคโนโลยีและบุคคลากรที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไป” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว