“เศรษฐา” ไม่เห็นด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชี้ โลกเปลี่ยนเร็ว ไม่ควรล็อกตัวเองนานเกินไป รับไม่มีความสุขหลังค่าแรงขึ้นน้อย จวกคนหัวเราะในที่ประชุม ขอให้นึกถึงใจเขาใจเรา ไม่ใช่เอาเรื่องกฎหมายมาคุยอย่างเดียว
วันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยในที่ประชุมมีประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ, รองผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และหอการค้า โดยวาระแรกของการประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการวางกรอบโครงยุทธศาสตร์ที่ให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศได้รับความรู้และทำงานไปในทิศทางในอนาคต ที่อยากให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อให้รู้ว่าจะไปถึงภาพนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง
ขณะเดียวกันเห็นว่าการมียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่เชื่อว่าการวางแผนและล็อกตัวเองยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่จะวางแผนตัวเองไว้ได้นานขนาดนี้ อย่าว่าแต่ 20 ปีเลย 5 ปียังทำได้ยาก โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนไปเร็วไปเรื่อยๆ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต่างจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น เช่นเรื่องพลังงานสะอาดที่จะกำหนดทิศทางโลก รัฐบาลเดินทางไปเจรจาค้าขายเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ดึงคนมาลงทุน เช่นเดียวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่หลายคนไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไร
ทั้งนี้ ขณะพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในห้องประชุม มีบางคนยิ้มและหัวเราะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดแทรกขึ้นว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาหัวเราะ แต่เป็นเรื่องน่าละอายใจ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ 3 ปีที่แล้วไม่มี”
...
ก่อนกล่าวต่อไปว่า เรื่องพลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่ตนไปเจรจามา และเป็นเรื่องแรกที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูด สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของ War of Talent ที่ทุกบริษัทและทุกรัฐบาล ทุกประเทศ ที่ดึงดูดทุกคนที่มีความสามารถมาทำงานกัน และยังเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งระยะหลังก็มีเยอะมาก อย่างเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ประเทศจีนกับสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มี Fiction ขนาดนี้ ประเทศไทยจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ชาติให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของแต่ละช่วงด้วย จึงอยากให้แผนยุทธศาสตร์มีความคล่องตัวและกระจายให้มากยิ่งขึ้น ให้มีการทบทวนและยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก
พร้อมกันนี้ อยากฝากทุกคนในที่ประชุมให้ช่วยกันพิจารณาถึงรูปแบบ การดำเนินงานที่เหมาะสมจะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์นี้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในวันนี้ และไม่ได้ปิดกั้นอนาคตของประเทศ เพื่อให้การตัดสินและการพัฒนาของรุ่นลูกหลานในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ถูกผูกมัด โดยความคิดของคนรุ่นเราให้พวกเขาได้มีโอกาสปรับกับคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นให้มีโอกาสที่จะเลือกทิศทางในการวางยุทธศาสตร์ไปพร้อมกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ในเวลาต่อมา นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมถึงกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า ต้องพิจารณาตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา เชื่อว่าทุกท่านก็เห็นอยู่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หลายๆ เรื่องที่จะดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในประเทศก็มี War of Talent มันคือสงครามที่ดึงคนเก่ง ซึ่งสมัยก่อนเวลาออกไปดึงดูดนักลงทุน ไม่มีใครพูดเรื่องพลังงานสะอาด แต่วันนี้เรื่องนี้กลับมามีความสำคัญ ส่วนที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกล็อกด้วยรัฐธรรมนูญจะมีการทำอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มันกว้าง มันมีขอบเขตพื้นที่ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้
จากนั้นนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่จบ โดยจะต้องพิจารณาตอบสายงานอีก ว่า “แน่นอนผมไม่มีความสุข ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้มีความสุขและอึดอัดเช่นกัน แต่ยอมรับว่ามันก็มีกลไกในการกำหนดค่าแรงอยู่ อย่างที่ผมบอกว่ามันเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก ความเหมาะสมของแต่ละประเทศ อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ได้เจอกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งบอกกับผมว่าถ้าเกิดไม่สามารถโยกค่าแรงขั้นต่ำ ความเจริญเติบโตของประเทศก็จะต่ำไปด้วย ซึ่งเมื่อคืนได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว”
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ค่าแรงขั้นต่ำเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา 300 บาท วันนี้ 337 บาท ขึ้นไป 12% ซึ่งได้เปรียบเทียบว่าในทางกลับกัน หากลูกของผู้ประกอบกิจการทั้งหลาย หรือคนที่เรียนจบเมืองนอกเมื่อ 9 ปีที่แล้วเงินเดือน 30,000 บาท มาถึงวันนี้เงินเดือนขึ้นเพียง 33,700 บาท จึงถามกลับว่าขึ้นมาแค่กว่า 10% แฮปปี้หรือไม่ อยากให้นึกถึงใจเขาใจเรา เรื่องของไตรภาคีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของกฎหมายและข้อบังคับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลายๆ เรื่องคนไทยอยู่ด้วยกัน ด้วยความอยากให้ทุกคนมีความสุข และมีกินมีใช้ตามความเหมาะสม พร้อมยกตัวอย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นไปเพียงแค่ 2 บาทต่อเดือน
“คุณจะพูดอย่างไรก็ตามทีว่านายกฯไม่มีอำนาจ เป็นเรื่องของไตรภาคี เป็นเรื่องของอะไร ผมเข้าใจหมดทุกอย่าง และผมว่าทุกคนเข้าใจเรื่องกฎหมาย แต่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน บางทีไม่ต้องเอากฎหมายมาจับ แต่ต้องเอาความเข้าใจความเห็นใจซึ่งกันและกันมาพูดบ้างได้ไหม ในภาวะที่เศรษฐกิจเราเดือดร้อน ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกัน”
สำหรับเงื่อนไขในเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีการหารือกันแบบผู้ใหญ่คุยกับผู้ใหญ่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็จะต้องพยายามต่อไปในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ต้องพูดจาให้มันมีความชัดเจน และต้องขอร้องอ้อนวอน วิงวอนถึงเหตุผล แล้วอย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาพูด เช่น ประเด็นการย้ายฐานการผลิตมาพูด เพราะมันไม่ใช่
เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปีสามารถขึ้นได้หลายหลายรอบใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า สามารถปรับได้หลายรอบตามความเหมาะสม จากที่ผ่านมาเราเคยพูดหลายจังหวัดรายอำเภอ ซึ่งบางอำเภอนั้นก็อาจจะมีความต้องการแรงงานที่แตกต่างกันออกไป เราเองก็ต้องฟังจากฝั่งนายจ้างเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จะไม่ฟัง และต้องฟังตามอาชีพตามความต้องการตามความชำนาญด้วย ซึ่งมีหลายมิติที่จะต้องพูดคุยกัน ส่วนตัวไม่ได้อยากใช้พื้นที่ของสื่อมวลชนมากดดันทุกๆ ฝ่าย “ผมคิดว่าเราควรที่จะพูดจากันด้วยจิตใจอุปมาปราศรัย เราก็เห็นใจซึ่งกันและกัน”
ทางด้านความคาดหวังกับเศรษฐกิจในปี 2567 นายเศรษฐา เผยว่า “ก็หวังว่าจะดีขึ้น ผมมาทำงาน ผมมาอยู่ตรงนี้ เพื่อต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ก็ต้องทำให้ดีขึ้นในหลายหลายมิติ ผมไม่ได้มาทำแค่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว ยังต้องดูเรื่องการลงทุน การเจรจา สนธิสัญญาการค้า และต้องดูเรื่องสิทธิพื้นฐาน เพศสภาพ การประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพเล็กๆ เช่นเรื่องของสภาพอากาศที่สะอาด ซึ่งทุกคนล้วนต้องการ”
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า หลังปีใหม่มีกำหนดการที่จะเดินทางไปพื้นที่ภาคเหนือ ไปช่วยกำกับว่าเรื่องสภาพอากาศก็จะต้องดีขึ้น ซึ่งมีหลายมิติที่ต้องทำ ทั้งนี้ หลังปีใหม่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายใหม่ที่จะต้องช่วยทำงาน และช่วยดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.