“ครูแดง” เตือนใจ ดีเทศน์ นำเสนอ ประเด็นหารือสถานการณ์ “คนไร้สัญชาติ” ในประเทศไทยต่อท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) อนุทิน ชาญวีรกูล (15 ก.ย.66) ที่ห้องประชุมด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สาย จ.เชียงราย สรุปข้อเสนอแนะได้ดังนี้
หนึ่ง...สถานการณ์การอพยพ ประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมากว่า 2,000 กิโลเมตรมีประชากรย้ายถิ่นเข้ามาโดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเด็ก...เยาวชน
ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้ย้ายถิ่นและคนไร้สัญชาติในประเทศไทยจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนดั้งเดิมเป็นชาวเขาติดแผ่นดิน หรือผู้ที่เข้ามามีภูมิลำเนาในประเทศไทยนาน 30-60 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นบุคคลสัญชาติไทย...
น่าสนใจว่า ส่วนหนึ่งยังเป็น “คนไร้สัญชาติ” ซึ่งข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 984,994 คน โดยที่สถิติการให้สัญชาติบุคคลกลุ่มต่างๆระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ของสำนักบริหารการทะเบียนให้สัญชาติได้เพียง 7,016 คน จากผู้มีสิทธิตามกฎหมาย 483,383 คน คิดเป็น 1.45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“โอกาสในการเข้าถึงสิทธิในสัญชาติไทยจึงยากที่จะสำเร็จโดยเร็ว อันเนื่องมาจากข้อจำกัดคือ กลไกการปฏิบัติงานจากระดับสำนักทะเบียนอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับกรมและระดับกระทรวง ไม่สอดคล้องกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
...
สอง...กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เปราะบางที่สุดได้แก่ ผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 111,249 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม พ.ศ.2564) ทั้งที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยและต่างด้าวทั่วไป
ในสมัยที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคในการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าที่เป็นชนกลุ่มน้อย โดยปรับแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุมัติให้แปลงสัญชาติเป็นไทยใน 4 หลักเกณฑ์ (ตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508) จึงทำให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติเข้าถึงสิทธิในสัญชาติได้สะดวกขึ้น ได้แก่....
คุณสมบัติการมีความประพฤติดี โดยให้ยกเลิกการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด...และความมั่นคงให้ใช้พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือรับรองแทน, คุณสมบัติการมีอาชีพเป็นหลักฐาน โดยให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ โดยให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้กับยกเว้นการเสียภาษี, คุณสมบัติการมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยให้นับจากวันที่ได้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือวันที่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนประเภท ท.ร.14 คุณสมบัติการมีความรู้ภาษาไทย โดยเพิ่มเติมให้พิจารณาจากการใช้ภาษาถิ่นในพื้นที่ที่มีภูมิลำเนา
ถัดมา...กลุ่มเด็กและครอบครัวในบริบทการย้ายถิ่นฐานองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่า ใน พ.ศ.2561 มีเด็กอพยพเข้ามาในประเทศไทยราว 400,000 คน แต่ได้รับการลงทะเบียนประมาณ 1.5 แสนคน ที่เหลือยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียน
เหตุผลหลักที่เด็กโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยคือโอกาสทางการศึกษา ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542กำหนดนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ให้เด็กทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสัญชาติและเอกสารทางทะเบียน “รัฐไทย” ได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านตลอดมา
“เราได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ ในการคุ้มครองสิทธิเด็กและการเข้าถึงสิทธิในการศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพส่งผลดีในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม”
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่กระทรวงมหาดไทยควรดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ครูแดง บอกว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ.2562 เห็นชอบคำมั่นของผู้แทนไทยที่จะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จัดโดย UNHCR ณ นครเจนีวาสมาพันธรัฐสวิส (7 ต.ค.62) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อพัฒนากระบวนการแก้ปัญหานี้มากขึ้น
“รัฐบาล” ควรพัฒนามติ ครม.ให้เป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการระดับชาติและกำหนดให้การแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติเป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้
ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและระบบการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในสำนักทะเบียนระดับอำเภอ...จังหวัด ที่มีประชากรไร้สัญชาติจำนวนมาก อาทิ จัดอัตรากำลังและทรัพยากรให้เหมาะสม, สร้างระบบการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีทัศนคติที่ดีเห็นอกเห็นใจมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและสร้างระบบการติดตามความคืบหน้า
สาม...ทบทวนกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
พุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอแปลงสัญชาติ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ในประเด็นการมีภูมิลำเนาต่อเนื่องในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 5 ปี (มาตรา 10 (4) ประกอบมาตรา 12 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508) โดยใช้หลักเกณฑ์ว่า...การพิจารณาระยะเวลาการมีภูมิลำเนานั้น “ให้พิจารณาจากหลักฐานทะเบียนบ้านประเภทท.ร.13หรือ ท.ร.14 หรือทะเบียนประวัติ ท.ร.38 ก ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร”
กรณีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เนื่องจากการขอเพิ่มหรือมีชื่อในทะเบียนบ้านและการจัดทำทะเบียนประวัตินั้นนอกจากจะต้องยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่แล้ว
มาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรยังกำหนดอีกว่า “ผู้ใดมีชื่อในทะเบียนบ้านใดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาณ ที่นั้น” ซึ่งชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิของบุคคลเป็นผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีและได้รับการจัดทำทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติไว้แล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงน่าจะมีคุณสมบัติตามมาตรา10
ประเด็นสุดท้ายนำ ร่างกฎกระทรวงการแปลงสัญชาติสำหรับคนต่างด้าวทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้วส่งให้ “กรมการปกครอง” แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2565 เสนอให้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” พิจารณาให้ความเห็นชอบประกาศใช้กฎกระทรวงนี้
พิจารณาร่างกฎกระทรวงการแปลงสัญชาติสำหรับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์โดยเทียบเคียงให้สอดคล้องกับร่างกฎกระทรวงการแปลงสัญชาติสำหรับต่างด้าวทั่วไปที่ว่านี้ เพื่อให้มีขั้นตอน กรอบเวลาชัดเจน
“รัฐบาลควรพิจารณาเสนอร่างกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่เพื่อการแปลงสัญชาติของชนกลุ่มน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยทบทวนแนวคิดการแปลงสัญชาติสำหรับผู้เฒ่าที่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีภูมิลำเนาในไทยมานานกลมกลืนกับสังคมไทย ไม่เคยถือสัญชาติใดมาก่อน และไม่มีรัฐต้นทางที่จะกลับไป...”
สุดท้ายนี้ขอให้ท่านนายกฯและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้โปรดนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ประจำปี พ.ศ.2567 แก่...ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เด็กไร้สัญชาติและคนไร้สัญชาติกลุ่มอื่น...ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเป็นธรรม.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม