• สรุปข่าวการเมืองท่ีสุดแห่งปี 2566 9ตลอดทั้งปีที่ร้อนแรง ต้องยกให้เหตุการณ์การเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 14 พ.ค.การเลือกตั้งใหญ่ หลังผ่านยุคพี่น้อง 3 ป คุมอำนาจประเทศไทย "บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก-บิ๊กตู่"
  • ผลเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ชนะ 151 เสียง ล้มแชมป์เก่า พรรคเพื่อไทย ของ "ตระกูลชินวัตร" ขณะ "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คาดหวังนั่งนายกฯ คนที่ 30 แต่ลงท้ายก็ได้ไม่สมดังหวัง "เสี่ยนิด" เศรษฐา ทวีสิน แห่งค่ายเพื่อไทย สมหวังแทน ในวันเดียวกับที่ ทักษิณ ชินวัตร กลับสู่เมืองไทย 22 ส.ค. หลังหนีไปต่างประเทศ กว่า 17 ปี 
  • ขนาดมาถึงสิ้นปี 2566 การเมืองยังร้อนแรงไม่หยุด ทั้ง ปม"เงินดิจิทัลวอลเล็ต-พรรค ปชป.เลือกตั้งหัวหน้าแบบมาราธอน จบลงด้วยความแตกแยก-หรือ ศาลรธน. นัดวินิจฉัย คดีหุ้นไอทีวี-ล้มล้างปกครอง ซึ่งจะทราบผล ม.ค.ปี 2567"

พูดถึงการเมืองใน ปี 2566 นักษัตรปีเถาะ สัญลักษณ์ (กระต่าย) ที่อีกไม่กี่วัน กำลังจะผ่านพ้นไปเข้าสู่ปีใหม่ 2567 ปีมะโรง สัญลักษณ์ มังกรของจีน หรือ นาค ของไทย

...

แต่ใครๆ ก็คงจะยอมรับว่า ปีเถาะ 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป การเมืองเรียกว่า "ดุเดือด" ช่างต่างกับรูปกระต่ายที่แสนน่ารักเสียจริงๆ 

เหตุตลอดทั้งปี ปรากฏข่าวการเมืองที่ร้อนแรงมาตลอด เป็นปีที่การเมืองในประเทศเคลื่อนไหว และเปลี่ยนแปลงมากที่สุดปีหนึ่งทีเดียว ไล่กันตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ ทำให้พี่น้อง 3 ป. ที่ทำให้รัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาโรงไป และได้รัฐบาลชุดใหม่ของ "เสี่ยนิด" เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้ามาแทนที่ 

แต่ระหว่างทางที่ นายกฯ เศรษฐา จะเหาะข้ามมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเรียกว่า นั่นเพราะต้องผ่าน คนที่ชื่อ "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่นำพรรคสีส้ม ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่สนับสนุน ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 เสนอชื่อโหวตในสภา แต่ต้องมาอกหัก จากปม จะแก้ ม.112 เรียกได้ว่าชวดเป็นนายกรัฐมนตรีแบบเจ็บช้ำ  

ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้คัดเลือกเหตุการณ์สำคัญการเมือง ตลอดปี 2566 ให้เหล่าคอการเมืองได้เก็บเอาไว้ในความทรงจำ เราไปดูกันได้เลยครับ 

14 พ.ค. 2566 ศึกเลือกตั้งใหญ่ ชิงอำนาจบริหารประเทศไทย

ศึกเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. 2566 ทุกพรรคการเมือง งัดทุกกลเม็ด ทั้งนโยบายโดนใจ ทั้งโจมตีใส่ฝั่งตรงข้าม เพื่อเป้าหมายให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ในการเข้าสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง เพื่อกุมองคาพยพ อำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ให้ได้เป็นรัฐบาล และเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ทุกพรรคการเมือง เกหมดหน้าตัก ทั้งบุคลาการ และกระสุน สาดใส่กันเต็มที่ เริ่มด้วยเต็ง 1 ในขณะนั้นพรรคเพื่อไทย ส่ง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายทักษิณ แท็กทีมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน ลงสนามเลือกตั้งลุยหาเสียง เป็น 2 แคนดิเดตนายกฯ ขณะพรรคก้าวไกล ก็หนุ่มหล่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาเป็นแคนดิเดตฯ รวมไทยสร้างชาติ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคพลังประชารัฐ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊กบราเธอร์ 3 ป.

สุดท้าย 14 พ.ค. พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ อย่างที่ทราบกัน ส่วนแชมป์เก่าอย่างเพื่อไทยได้เพียงอันดับ 2 (รองแชมป์)

ก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง แต่ อกหัก พรรคไม่ได้ทั้งเป็นรัฐบาล-พิธา ชวดนั่งเก้าอี้นายกฯ

พรรคคนรุ่นใหม่ ใช้สีประจำพรรคคือสีส้ม อย่างพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ อย่างถล่มทลาย ได้ 151 เสียง ชนะแชมป์เก่าตลอดกาลอย่าง พรรคเพื่อไทยที่มีเงานายใหญ่และคนตระกูลชินวัตรอยู่ข้างหลัง ได้คะแนน 141 เสียง ทำให้พรรคคนรุ่นใหม่ ได้ครองใจประชาชน ส่งชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียงชั่วข้ามคืน

แต่นั่น เหมือนกลายเป็นดาบ 2 คม เหตุยิ่งทำให้เป็นการกดดันตัวเองไปในตัว เพราะเมื่อสำรวจ นโยบายที่พรรคก้าวไกลหาเสียง ไว้ก่อนหน้า มีหลายนโยบายที่สุ่มเสี่ยง อย่างไม่ต้องสงสัย อาทิ แก้ไข ม.112 - ยกเลิกเกณฑ์ทหาร - ตัดงบประมาณกองทัพ ฯลฯ

เพราะส่งผลในการเลือก นายกรัฐมนตรีในสภา เมื่อฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา 250 คน แท็กทีมกับฝั่งพรรคการเมืองที่ถูกขนานนามว่าฟากเผด็จการ อย่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ไม่ลงมติเลือก นายพิธา ชวดนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย สุดแสนเสียดายยิ่ง จากข้อชวนสงสัย เกี่ยวกับประเด็น แก้ ม.112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่อ แสนสิริ เปิดหวอ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

22 ส.ค. 2566 เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้ฤกษ์ปาดนั่งแท่น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ภายหลังสภาลงมติ วันเดียวกับที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงไทย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ภายหลังหนีคดีออกจากประเทศไปเป็นเวลา 17 ปี ปล่อยให้ “ทิม” พิธา ตอนนั้นยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด ฝันค้าง กินแห้วไปตามระเบียบ กลายเป็น “นายกฯ ว่าว” อย่างที่ในโลกโซเชียลมีเดีย ขนานนามกัน

ล่าสสุดสื่อทำเนียบรัฐบาล ให้ฉายา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง : "เซลส์แมนสแตนด์ชิน"

สุดเซอร์ไพรส์! นายใหญ่ทักษิณ กลับเมืองไทย สู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่ในรอบ 17 ปี

นายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจกลับประเทศไทยในรอบ 17 ปี พร้อมประกาศเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ต้องยอมรับ จุดเริ่มมาจาก บุตรสาวคนเล็กของตระกูลชินวัตร “อิ๊งค์” แพทองธาร โพสต์เฟซฯ บอกพ่อจะกลับสู่แผ่นดินแม่แล้ว ตอนแรกการเมืองทุกสายเช็กข่าวกันวุ่นวาย เหตุไม่มีใครยอมเชื่อว่าจะกลับมา เนื่องจากเจ้าตัว เคยประกาศมาเกือบ 20 ครั้งแต่สุดท้ายก็ไม่เคยกลับมาจริง ขนาด จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตลูกน้องเก่ายังไม่เชื่อ ต้องบอกว่า จะเชื่อว่ากลับมาจริงเมื่อต้องเห็นตัวเป็นๆ ที่สนามบินวันที่ 22 ส.ค.ก่อน

 ป่วยหนัก ถูกนำตัวออกจากเรือนจำ ตั้งแต่คืนแรก สู่ ชั้น 14 รพ.ตร.กว่า 120 วัน จนถึงวันนี้

แล้ว 22 ส.ค. 2566 ทักษิณ ก็กลับมาจริงๆ เจ้าหน้าที่นำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เข้าสู่เรือนจำพิเศษกทม. แล้วเพียงคืนแรก ก็ปรากฏข่าวมีการนำตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจชั้น 14 เนื่องจากมีอาการป่วยหนัก จากวันนี้จนมาถึงวันนี้ ครบ 120 วัน (22 ธ.ค. 2566) ทักษิณ ก็ยังนอนป่วย ซึ่งก็ไม่ใครทราบข้อเท็จจริงป่วยจริงหรือไม่ อาการหนักแค่ไหน

"อิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร นั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายหลังสมาชิกพรรคโหวตเลือก แบบไร้คู่แข่ง 

อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวทักษิณ ตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลัง นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรค ต้องลาออก เพื่อรับผิดชอบคำพูดตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยหากไปจับมือกับพรรค 2 ลุง พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ เพื่อตั้งรัฐบาล จะรับผิดชอบด้วยการลาออก หมอชลน่านก็ลาออกจริง และไปรับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลเศรษฐา 1 

ขณะสมาชิกในพรรคเรียกได้ว่า เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ ให้ลูกสาวนายใหญ่ขึ้นคุมบังเหียนบริหารพรรคเพื่อไทย เพื่อเป้าหมาย กลับสู่พรรคคะแนนอันดับ 1 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และเอาจริงๆ คือ น.ส.แพทองธาร มีคุณสมบัติเหมาะสม ทั้งเป็นสายตรงนายทักษิณ ทั้งยังสยบคลื่นใต้น้ำในพรรคได้ชะงัด ทำให้พรรคเป็นเอกภาพ

"ดิจิทัลวอลเล็ต" แจกเงินคนละ 10,000 บาท ไทม์ไลน์ พ.ค. 67 รัฐบาลเศรษฐา ยังทำได้ "เพื่อไทย" สะเทือน แน่ 

ต้องจับตา แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท เกิดขึ้นครั้งแรก ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ได้พูดบนเวทีหาเสียง ซึ่งต้องยอมรับว่า ทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ ตอนแรกบอกแจกทุกคน ที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ใช้งบฯ 5.6 แสนล้านบาท 

ต่อมา สเกลค่อยๆ หดลงมา เหตุหลายฝ่ายสงสัยจะหาเงินมาจากไหน ยิ่งตอนแรก นายเศรษฐาบอกไม่ต้องกู้เงิน แต่ตอนนี้ยอมรับแล้วต้องกู้เงิน ขณะที่ล่าสุด ยังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง รับว่าได้ส่งคำถามไปยังกฤษฎีกาแล้ว  

"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี 

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่อย่างเป็นทางการ "ในหลวง" โปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยเป็น องคมนตรี 

ศึกชิง "ประชาธิปัตย์" พรรคแตก "เสี่ยต่อ" ตระบัดสัตย์ กลับลำยึดพรรคเบ็ดเสร็จ หัก "หัวนายชวน"

พรรคประชาธิปัตย์ สัญลักษณ์ "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ยุคนี้อยู่ในยุคตกต่ำ พิสูจน์ได้ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ต้องเลือกกันถึง 3 ครั้ง ถึงมาจบที่ชื่อ "เสี่ยต่อ" เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่กุมเสียง สส.ถึง 21 จาก 25 สส.ที่ได้รับเลือกตั้ง ท่ามกลางแรงต่อต้านอย่างรุนแรงดุเดือด ภายในพรรค 

ถึงขั้นวันประชุมใหญ่พรรค 9 ธ.ค. 2566 มีดราม่า ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป.ที่นายชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสพรรค เป็นผู้เสนอชื่อชิงตำแหน่ง แข่งกับ นายเฉลิมชัย ที่ 21 สส.ประกาศหนุนก่อนหน้า จนต้องขอหารือกัน 2 ต่อ 2 ถึง 10 นาที ก่อนออกมาที่ นายอภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคปชป. ขณะที่ "มาดามเดียร์" วทันยา บุญนาค ที่ประกาศจะลงแข่งก่อนหน้า ถูกสกัด ต้องได้เสียงในที่ประชุม 3 ใน 4 ถึงลงแข่งขันได้ แต่สุดท้ายก็ได้เสียงไม่ถึง 

ขณะที่ ยังมี "อาฟเตอร์ช็อก" ตามมาเป็นระลอก ด้วยการประกาศลาออกจากสมากชิกพรรค ปชป.อีกหลายคน อาทิ นายสาธิต ปิตุเตชะ เป็นต้น 

 จับตา คดี"ถือหุ้นไอทีวี-ล้มล้างการปกครอง" แก้ม. 112 ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย 

ศาลรัฐธรรมนูญ เคลื่อนไหว นัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ชัยธวัช ตุลาธน เข้าให้การไต่สวนพยานบุคคล ในคดีหาเสียงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัย ลงมติ 31 ม.ค.2566 

ขณะที่ก่อนหน้านี้  (20 ธ.ค.2566) ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดเข้ารับฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ นัดไต่สวนพยานบุคคล กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ 

และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566

โดยนายพิธา ออกมา หลังเข้าชี้แจง ว่า พอใจ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ คำร้องถือหุ้น ITV โดยเป็นไปตามที่คาดหวัง พอใจกับกระบวนการ และได้ไต่สวนตามข้อเท็จจริงที่ตั้งใจไว้ทุกประการ และมั่นใจกลับมาทำหน้าที่ สส. ทันทีหากพ้นข้อกล่าวหา

 ปีหน้าฟ้าใหม่ 2567 ปีมังกร การเมืองของไทยจะเดินไปสู่จุดไหน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา จะอยู่หรือไป เริ่มต้นปี 3-5 ม.ค.ประเดิมด้วยการ อภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 กันเลย

ส่วนพวกเราคนไทย ทั้งประเทศ คงต้องร่วมแรง ร่วมใจ ฟันฝ่าไปสู่เส้นชัยให้ได้  


ผู้เขียน : เดชจิวยี่

กราฟิก:Jutaphun Sooksamphun