นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โรดโชว์ Thailand Landbridge Roadshow เชิญชวนการลงทุน โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ ของประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มีการขยายความถึงความสำคัญของโครงการนี้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจและมีความคุ้มค่าอย่างมหาศาล

ใน ทวีปเอเชีย มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงถึงร้อยละ 40 มากกว่า ยุโรป ที่มีสัดส่วนการส่งออกที่ร้อยละ 38 ส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือ เพราะขนส่งได้มากและประหยัดที่สุด การขนส่งสินค้าส่วนใหญ่จากเอเชียไปยุโรป ผ่านช่องแคบมะละกา โดยมีตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละการ้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าทั่วโลก รวมทั้ง การขนส่งน้ำมัน ผ่านช่องแคบมะละกาสัดส่วนร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ทำให้เกิดการแออัดในการเดินเรือขนส่งสินค้าที่มีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี มีเรือผ่านช่องแคบมะละกา 90,000 ล้านลำต่อปี คาดว่าในปี 2573 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าตามมา

การขนส่งสินค้าจากประเทศผู้ผลิตในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ จะขนส่งด้วยเรือขนาดใหญ่แล้วมาเปลี่ยนลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือมะละกา ถ้ามีแลนด์บริดจ์จะทำให้ตู้สินค้าเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิต เปลี่ยนมาลงเรืออีกลำที่แลนด์บริดจ์ จะประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ร้อยละ 4 และประหยัดเวลาได้ถึง 5 วัน สินค้าที่ผลิตในไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ จะขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงการคมนาคมทางบกของไทยไปยังแลนด์บริดจ์ได้เลย ประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ถึงร้อยละ 35 ประหยัดเวลาได้ 14 วัน

โดยเฉลี่ย การขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางผ่านแลนด์บริดจ์ จะลดเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และ ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 15 คาดว่าตู้สินค้าที่จะผ่านฝั่งตะวันตกท่าเรือของแลนด์บริดจ์ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และฝั่งตะวันออกอีก 13.8 ล้านตู้ หรือร้อยละ 23 ของจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านช่องแคบมะละกา

...

นอกจากนี้ การขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง มีจำนวนน้ำมันดิบ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ร้อยละ 56 หรือ 10.7 ล้านบาร์เรล จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ถ้าใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบจะประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 6

เชื่อว่า แลนด์บริดจ์ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างงานไม่น้อยกว่า 2.8 แสนอัตรา จีดีพี จะโตร้อยละ 5.5 ต่อปี หรือ 6.7 แสนล้านดอลลาร์

มูลค่าการลงทุนรูปแบบ เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ(PPP) มีมูลค่าการลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในรายละเอียดของโครงการ จะต้องทำเป็น พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ออกมาอีกครั้ง

ปัญหาก็คือความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากการใช้ช่องทางช่องแคบมะละกา เป็นที่คุ้นเคยและมีบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ไปตั้งสำนักงานถาวรที่สิงคโปร์ เป็นฮับการขนส่งทางเรือ การจะย้ายฐานการขนส่งมาใช่้บริการแลนด์บริดจ์เมื่อเทียบความคุ้มค่าแล้วอาจต้องคิดหนัก เรื่องของกฎหมายที่รัฐจะร่วมลงทุนกับเอกชน มีตัวอย่างความล้มเหลวมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ยังคาราคาซัง แลนด์บริดจ์ที่มาเลเซียทำมาหลายปีแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ ในขณะที่จีนเองให้ความสำคัญโครงการวันเบลต์วันโรดมากกว่า

ยังไม่รวมเรื่องความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบตามมา.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม