ภาคประชาชน บุก สธ. จี้ เร่งจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา คุมเข้มการดื่ม-ขาย เข้าสภาด่วน หลังพบร่าง พ.ร.บ.บางฉบับ จ่อ เข้าสภา ปล่อยผีโฆษณา ขาย 24 ชม.ร้อง สธ.ค้านมาตรการลดภาษีน้ำเมา เหตุสร้างปัญหากับสุขภาพประชาชน
 
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วย นายเจกพันธ์ พรมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ และสมาชิกเครือข่ายฯ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผ่านทาง นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฉบับที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการยกร่างแก้ไข ให้ทันเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว และขอให้กระทรวงสาธารณสุขคัดค้านการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยรวม

...

นายชูวิทย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 15 ปี อาจจะไม่ทันกับสภาพสังคม และอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อทำการสื่อสารการตลาดหลายรูปแบบ ทำให้ภาคประชาชนที่เคยมีส่วนร่วมกันล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 13 ล้านรายชื่อเพื่อสนับสนุนพ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อปี 2551 ได้จัดทำร่าง แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ขึ้น โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ตามขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชน ที่มีสาระสำคัญในการลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ ห้ามใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณา กำหนดให้ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด อย่างน้อยปีละสามครั้ง กำหนดให้มีเวทีสมัชชาเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด กำหนดมาตราเกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาชัดเจนขึ้นโดยต้องผ่านการอนุญาตก่อนการโฆษณาเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ พร้อมกับร่างฯ ของกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์รายย่อย ซึ่งมุ่งไปในทางที่เอื้อประโยชน์กับธุรกิจผู้ผลิตผู้ขาย แต่จะกระทบสุขภาพประชาชน เช่น การให้ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ให้โฆษณาได้แต่ห้ามใช้ข้อความเป็นเท็จ ให้ส่งเสริมการขายได้ ให้ขายและดื่มในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้ ให้ตัวแทนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกรรมการควบคุม และตัดลดอำนาจของคณะกรรมการชุดต่างๆ ลง  
“ที่น่าห่วงขึ้นไปอีก คือตอนนี้มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่ากระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงอีก ก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งและจะสวนทางกับการทำงานคุ้มครองสุขภาพประชาชน  กระทบกับภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ทั้งสองประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในเวลานี้” นายชูวิทย์ กล่าว

ด้าน นายเจกพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายเปิดผับบาร์ตี 4 ที่ว่าแย่มากแล้ว  ยังเศร้าใจหนักไปอีกจากมาตรการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เอาใจนักดื่มเอาใจนายทุนของกระทรวงการคลัง ผสมโรงกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของกลุ่มเหล้าเบียร์รายย่อย ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นร่างสุราเสรีเลยก็ว่าได้ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาวันพฤหัสบดีนี้ ทำให้ภาคประชาชนที่ทำงานในมิติสุขภาพต้องเดินหน้าสู้ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่แน่นอน ดังนั้นเครือข่ายที่มาในวันนี้จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ 1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยเร็ว ร่วมกับอีกสองร่างที่ไปรออยู่แล้ว 2. ขอเรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้อหาเข้มข้นมากขึ้น ตามเจตนารมณ์เดิมในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และ 3. ขอให้กระทรวงคัดค้านนโยบายลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของกระทรวงการคลัง เพราะเป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้มีการดื่มกินมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและเป็นภาระในทางการแพทย์มากขึ้น.