“ศิริกัญญา” ฉะปัญหา กสทช. ประธานบอร์ดรวบอำนาจ สำนักงานใส่เกียร์ว่าง ไม่บังคับใช้มาตรการเยียวยาผลกระทบควบรวมทรู-ดีแทค ทำผู้บริโภครับกรรม ชี้ กฎหมายแข่งขันการค้าก้าวไกล อุดช่องว่างป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวระบุบอร์ด กสทช. 4 คน ส่งบันทึกข้อความขอให้มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอัตราค่าบริการสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 20 ธันวาคมนี้

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า เรื่องดังกล่าวชวนให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าบอร์ด กสทช. ออกมาแสดงละครอะไรหรือไม่ เรื่องแค่นี้ควรเป็นอำนาจของบอร์ดอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่คุยกันเอง ในความเป็นจริงการบรรจุวาระการประชุมบอร์ด กสทช. เป็นอำนาจเต็มของประธาน และแม้จะมีการร้องขอจากกรรมการและอนุกรรมการให้บรรจุวาระเรื่องผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์นี้

ประเด็นต่อมาคือ บอร์ด กสทช. มีมติอนุมัติมาตรการเฉพาะที่จะกำกับ ควบคุม และเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว หน้าที่ในการบังคับใช้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่มีดราม่าการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ที่ค้างเติ่งมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเลขาฯ โดยมองว่า สำนักงาน กสทช. ใส่เกียร์ว่างอย่างชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการเฉพาะต่างๆ หลายมาตรการ ที่ต้องทำเสร็จตั้งแต่ก่อนควบรวมก็ยังไม่ได้ทำ เช่น ให้ทรู-ดีแทค จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือมาตรการที่ต้องทำหลังควบรวมภายใน 30 วัน เช่น จ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงสร้างต้นทุนสำหรับคำนวณราคาตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ก็ยังไม่ได้จ้าง 

...

หรือการคุมค่าบริการให้ถูกลงไม่ต่ำกว่า 12% ถึงแม้สำนักงานจะแจ้งว่าทรู-ดีแทค ได้ลดค่าบริการลงแล้ว โดยค่าโทรลด 15% ส่วนค่าอินเทอร์เน็ตลด 80% ที่สร้างความฉงนสงสัยแก่ผู้บริโภคว่าไปลดตอนไหน ค้านสายตากรรมการเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือแพ็กเกจราคาถูกหายไป และมีการปรับราคาจนเท่ากันหมดทุกค่าย หรือการควบคุมคุณภาพสัญญาณ ก็เป็นปัญหา ตามมาตรการบอกว่าทรู-ดีแทคจะต้องคงคุณภาพการให้บริการ แต่จากการสำรวจผู้บริโภคพบคำตอบว่า หลังควบรวมเกิดปัญหาสัญญาณห่วยเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าสำนักงาน กสทช. จริงจัง คงต้องดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงไปแล้ว ไม่ใช่รอให้ทรู-ดีแทคออกมาชี้แจง

“สรุปง่ายๆ ก็คือ หลังจากที่บอร์ดมีมติรับทราบการควบรวม และเห็นชอบมาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภคมาแล้วเป็นปี แต่เรามีสำนักงาน กสทช. ที่ใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมบังคับใช้มาตรการ มีประธานที่รวบอำนาจไว้กับตัวเอง และบล็อกวาระที่จะทำให้เกิดสุญญากาศ บอร์ดไร้อำนาจในการตรวจสอบ ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับกรรม”

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปัจจุบันผ่านขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้ว เพื่ออุดช่องว่างไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเอง และละเลยการกำกับดูแลหลังควบรวมเช่นในปัจจุบัน โดยในร่างกฎหมายมีการแก้ไขกระบวนการสรรหาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด กขค.) ให้ที่มายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และที่สำคัญคือติดดาบติดอาวุธให้บอร์ด กขค. มีอำนาจสั่งแยกธุรกิจ เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้คำสั่งของ กขค. ได้ผลจริง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.