รัฐบาลเชิญชวนเกษตรกรทั่วประเทศลดการเผา แก้ปัญหาหนึ่งในต้นตอฝุ่น PM 2.5 เผย เม.ย. 67 กรมการข้าวเตรียมประกาศรับรองข้าวอีก 8 สายพันธุ์ ผลผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,300 กิโลกรัมต่อไร่

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเกษตรกรโคราชในหลายพื้นที่ มีความตื่นตัวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบัน โดยช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย โดยส่วนใหญ่จะเน้นตัดอ้อยสดแทนการเผา ซึ่งปกติฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะตรงกับช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นพอดี ซึ่งการตัดอ้อยสดนอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นแล้ว ยังสามารถทำให้ขายอ้อยได้ราคาดีและมีคุณภาพ เพราะอ้อยจะมีความหวาน ที่สำคัญใบและยอดอ้อยยังสามารถนำไปขายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลได้อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ชื่นชมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโคราชว่าถือเป็นการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ให้มีการตื่นตัวและร่วมมือกันลดเผา เพราะทำให้ผลผลิตมีความคุ้มค่า ลดต้นทุน และแก้ปัญหาฝุ่นอีกด้วย หากเกษตรกรช่วยกันแบบนี้ทั่วประเทศ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาอีกหนึ่งต้นตอของฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน 

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อไปว่า จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดในโครงการสนับสนุนชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ไปแล้วนั้น ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท คาดว่ามีชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ 140,000 ราย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยที่จะเริ่มจ่ายเงินได้ในเดือนมกราคม 2567

ทางด้าน นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกรไทย และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนา เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับประสิทธิภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดโลก แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาวิจัยสายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย

...

โดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท รวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด วิจัยพัฒนาสายพันธุ์ และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทย ใช้สถานีทดลองข้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกันคิด ใช้องค์ความรู้ที่มีนำมาศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์กับประเทศและชาวนาไทย ขณะเดียวกัน กรมการข้าวยังได้เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร โดยในเดือนเมษายน 2567 เตรียมประกาศรับรองพันธุ์เพิ่มอีก 8 สายพันธุ์ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป

นางรัดเกล้า ระบุต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาข้าวไทย ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เนื่องจากข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โดยมุ่งพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศ การแปรรูป และการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย สนองความต้องการของตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทยอีกทางหนึ่ง

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าว ที่ถือเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ มุ่งเน้นพัฒนาตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านการเกษตร ส่งเสริมแนวทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานรองรับ ตรงตามความต้องการและสามารถแข่งขันในตลาดโลก”.