นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ฉุนเป็นครั้งที่สอง เมื่อถูกถามถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ของ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่มี คุณไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน กระทรวงแรงงานอยู่ในสังกัด พรรคภูมิใจไทย มี คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรี จะนำค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เสนอ ครม. เพื่ออนุมัติในวันพรุ่งนี้ 12 ธันวาคม และประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567
ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% หรือ 345 บาทต่อวัน แบ่งเป็น 17 อัตรา ภูเก็ต ได้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสูงสุด 16 บาท (แต่ไม่ได้ขอขึ้น) เป็นวันละ 370 บาท ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ที่ยากจนและมีปัญหาความรุนแรง ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่ำสุดวันละ 2 บาท เป็น วันละ 330 บาท
นายกฯเศรษฐา บอกกับนักข่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐมนตรีแรงงานจะเสนอเข้า ครม. ในวันพรุ่งนี้ ถ้าเสนอเข้ามา ตนเองก็ไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยแน่นอน เท่ากับ นายกฯเศรษฐาได้ประกาศคว่ำค่าแรงขั้นต่ำใหม่ตั้งแต่ก่อนเข้า ครม.เลยทีเดียว ก็หวังว่า คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีแรงงานพรรคภูมิใจไทย จะไม่เสนอค่าแรง ขั้นต่ำใหม่ที่นายกฯไม่เห็นด้วยนี้เข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้นะครับ เสนอเข้าไปก็ถูกคว่ำแน่นอน เพราะขัดกับนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทภายใน 4 ปี ขึ้นวันละ 2-3 บาท อีกกี่สิบปีจึงจะไปถึงวันละ 600 บาท
นายกฯเศรษฐา ให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นเพียง 2-16 บาทต่อวันว่า มันน้อยเกินไป การเพิ่มรายได้ก็สำคัญ ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงบริษัทใหญ่มาลงทุน ไปเปิดตลาดขายใหม่ในต่างประเทศ สิ่งที่รัฐบาลทำ นายจ้างได้ประโยชน์ ทั้งการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่าง วันนี้ จะยอมให้แรงงานไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ ประเทศใกล้เคียงไทย เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ค่าแรงต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชน ของเรา เป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้
...
นายกฯเศรษฐา ของขึ้นอีกเมื่อถูกถามถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2 บาท ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้ ผมไม่สบายใจ และขอความเป็นธรรม ให้กับพี่น้องแรงงาน ต้องคุยทั้งไตรภาคีและใน ครม. เมื่อถามว่ารัฐบาลจะทำให้ได้ถึงวันละ 400 บาทตามนโยบายหรือไม่ นายกฯเศรษฐา ตอบว่า ต้องดูตามความเหมาะสม จังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 บาท จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง
ผมก็ไม่เห็นด้วยกับ วิธีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไตรภาคีมานานแล้ว ไม่รู้เอามาตรฐานอะไรมาเป็นเกณฑ์ จังหวัดที่ยากจน แทนที่จะช่วยยกระดับขึ้นมา เพื่อลดความยากจนลงคณะกรรมการค่าจ้างกลับขึ้นค่าแรงน้อยที่สุด ขึ้นเพียงวันละ 2 บาท ซื้อไข่ครึ่งฟองยังไม่ได้เขาจนอยู่แล้ว ก็ยิ่งจนดักดานเข้าไปอีก โอกาสต่างๆก็ไม่มี การศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานรัฐบาลก็ไม่ทำ การขึ้นค่าแรงแบบนี้เป็นการบ่อนทำลายคุณภาพคนและเศรษฐกิจสังคมไทยทางอ้อม วันนี้เราจึงมี “แรงงานไร้ฝีมือ” ที่ต้อง “กินค่าแรงขั้นต่ำ” หลายสิบล้านคน อย่างที่ นายกฯเศรษฐา พูดถึง มนุษยธรรม คุณธรรม ไปซุกอยู่ที่ไหน
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมเห็นด้วย ควรขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กระชากขึ้นไป 400-600 บาทต่อวัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่อ่อนแอและใช้แรงงานมากที่สุด ทุกรัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจน ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ให้สอดคล้องกับ “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้น ปีไหนเศรษฐกิจดีก็ขึ้นเกินเงินเฟ้อหน่อย ให้แรงงานอยู่ดี กินดีขึ้น ทำแบบนี้สัก 2-3 รัฐบาล 8-12 ปี แรงงานไร้ฝีมือก็จะลดลง ค่าแรงขั้นต่ำก็จะสูงขึ้น ทุกวันก็อยู่ได้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม